รายละเอียดบทคัดย่อ


เบญจพรรณ เอกะสิงห์, กุศล ทองงาม และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ. 2545. การเกษตรเชิงระบบในงานวิจัยข้าวโพด: ความท้าทายในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.34-49.

บทคัดย่อ

         การวิจัยข้าวโพดในประเทศไทยเริ่มจากงานด้านปรับปรุงพันธุ์และงานด้านเขตกรรม ที่ผ่านมามีความเข้มแข็งมาก ทำให้ได้ข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมใหม่ๆ และจากการส่งเสริมโดยภาครัฐร่วมกับบริษัทเอกชนทำให้ประเทศไทย เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะการใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมและเครื่องปลูก อย่างไรก็ตามการศึกษาข้อมูลจากเกษตรกร พบว่า ผลิตภาพและผลตอบแทนที่ได้ยังต่ำกว่าศักยภาพของพันธุ์ลูกผสมอย่างมาก มีข้อจำกัดและปัญหาของพื้นที่รวมทั้งพื้นฐานของเกษตรกร งานวิจัยข้าวโพด โดยใช้แนวทางเชิงระบบที่ผสมผสานความรู้ทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจสังคม และการเชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประะเทศ นโยบายของรัฐและกฎหมายพันธุ์พืช เทคโนโลยีใหม่ด้านการตัดต่อพันธุกรรม รวมทั้งประเด็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ท้าทายในปัจจุบันและอนาคต การใช้ประโยชน์จากการสัมภาษณ์ผู้รู้บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ การใช้ข้อมูลมือสอง และการประเมินสภาวะชนบทอย่างมีส่วนร่วม ผนวกกับการเก็บข้อมูลจากเกษตรกรโดยใช้แบบสอบถาม ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในช่วงปี พ.ศ. 2542-2544 ได้ค้นพบข้อมูลที่ประโยชน์ต่อการวิจัยและพัฒนาด้านข้าวโพดเป็นอันมาก ข้อมูลที่ได้จากเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เมื่อผสานกับความรู้ของนักวิชาการทั้งในภาครัฐและเอกชน ได้นำมาใช้ในกระบวนการปรับปรุงและจัดลำดับความสำคัญของงานวิจัยข้าวโพดในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2544 ทำให้งานวิจัยข้าวโพดมีความใกล้ชิดกับปัญหาและข้อจำกัดของเกษตรกรมากขึ้น งานวิจัยลักษณะนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (CIMMYT) ร่วมกับประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตข้าวโพดอีก 6 ประเทศในเอเชีย แสดงให้เห็นว่างานวิจัยเชิงระบบเช่นนี้ยังเป็นที่ต้องการทั้งในระดับประเทศและในระดับองค์กรนานาชาติ แม้จะไม่ได้เรียกอย่างเป็นทางการว่าการวิจัยเชิงระบบก็ตาม