รายละเอียดบทคัดย่อ


อารี วิบูลย์พงศ์, ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ และ ประทานทิพย์ กระมล. 2545. แบบจำลองการตัดสินใจของเกษตรกรในจัดสรรที่นาเพื่อปลูกข้าวหอมมะลิ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.299-317.

บทคัดย่อ

         ในขณะที่ประเทศไทยพยายามผลักดันให้มีการปลูกและส่งออกข้าวคุณภาพดีมากขึ้นนั้น สัดส่วนพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิยังขยายตัวไม่มากนัก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะปัจจัยหลายประการซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร รายงานนี้นำเสนอแบบจำลองการตัดสินใจของเกษตรกรในการจัดสรรที่นาเพื่อปลูกข้าวหอมมะลิ โดยศึกษาใน 3 พื้นที่ตัวแทนของภาคเหนือตอนบน (เชียงใหม่) ภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ทุ่งกุลาร้องไห้) ซึ่งใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกร รวม 273 ราย ในปีการผลิต 2542/43 และวิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง non-linear least squares ทั้งนี้เพื่อตอบคำถามว่า ถ้าข้าวหอมมะลิสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ ทำอย่างไรเกษตรกรจึงจะจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกข้าวหอมมะลิให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐ ผลการศึกษาพบว่าการตัดสินใจของเกษตรกรในการจัดสรรพื้นที่ เพื่อปลูกข้าวหอมมะลิของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ และทุ่งกุลาร้องไห้ มีความคล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างจากเกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก กล่าวคือ นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพแล้วปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ได้แก่ ลักษณะของเกษตรกร ทัศนคติเชิงพาณิชย์ พื้นที่ปลูกข้าวต่อสมาชิกในครัวเรือน ความชำนาญในการปลูกข้าวหอมมะลิ และความชอบบริโภคข้าวหอมมะลิ นอกจากนี้ปัจจัยแวดล้อมที่สูงกว่าระดับไร่นา คือ ระบบตลาดข้าวหอมมะลิในพื้นที่สามารถสร้างความแตกต่างในการตัดสินใจอย่างสำคัญเช่นกัน