รายละเอียดบทคัดย่อ


เบญจพรรณ เอกะสิงห์, กุศล ทองงาม, ธันยา พรหมบุรมย์, และ นฤมล ทินราช. 2548. การประเมินสภาวะความเสี่ยงจากความแปรปรวนด้านผลผลิตและราคาของพืชเศรษฐกิจบางชนิดในจังหวัดเชียงใหม่ .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.289-298.

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้ประเมินความเสี่ยงของการได้ผลตอบแทนจากการผลิตพืชเมื่อเกิดความไม่แน่นอนด้านผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับของพืชเศรษฐกิจสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่ 7 ชนิด ได้แก่ ข้าวเจ้านาปี ข้าวเหนียวนาปี ถั่วเหลืองฤดูแล้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน หอมหัวใหญ่ หอมแดง และกระเทียม โดยใช้โปรแกรม Best Fit และ @Risk หารูปแบบการกระจายผลผลิต และราคาตามโอกาสที่น่าจะเกิดขึ้น (probability) ข้อมูลผลผลิตได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนาม ปีการผลิต 2542 – 2545 จำนวนทั้งสิ้น 462 ตัวอย่าง และข้อมูลราคาผลผลิตที่เกษตรกรขายได้รายเดือนย้อนหลัง 5 ปี (2541-45) จากข้อมูลมือสอง ผลการวิเคราะห์ พบว่า หอมหัวใหญ่ กระเทียม และหอมแดงเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนเหนือต้นทุนเงินสดต่อไร่สูงเฉลี่ย 10,000 ถึง 19,000 บาท/ไร่ และให้กำไรสูงสุด 45,000 ถึง 77,000 บาท/ไร่ แต่มีโอกาสขาดทุนสูงมากเช่นกันโดยเฉลี่ย –6,200 ถึง –7,700 บาท/ไร่ ส่วนถั่วเหลือง ข้าวเหนียวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝน และข้าวเจ้านาปี เป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนเหนือต้นทุนเงินสดที่ต่ำกว่า แต่โอกาสขาดทุนก็ต่ำกว่าด้วย โดยให้ผลตอบแทนเหนือต้นทุนเงินสดเฉลี่ย 600 ถึง 3,200 บาท/ไร่ และให้กำไรสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 2,300 ถึง 8,000 บาท/ไร่ แต่โอกาสที่จะขาดทุนเฉลี่ย –500 ถึง - 700 บาท/ไร่ และเมื่อวิเคราะห์หาโอกาสในการขาดทุนแต่ละพืชว่ามีมากน้อยเท่าไหร่โดยพิจารณาผลตอบแทนเหนือต้นทุนทั้งหมดซึ่งรวมแรงงานตนเอง/แลกเปลี่ยน พบว่า ถั่วเหลืองฤดูแล้ง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูฝนและหอมแดง จะมีโอกาสขาดทุนมาก คือขาดทุนประมาณร้อยละ 77 58 และ 42 ตามลำดับ ส่วนข้าวเหนียวนาปี หอมหัวใหญ่ กระเทียม และข้าวเจ้านาปี จะมีโอกาสที่จะขาดทุนประมาณร้อยละ 34 21 19 และ 14 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพืชที่เกษตรกรปลูกยังมีความเสี่ยงสูงอยู่ และแต่ละชนิดจะมีโอกาสและความเสี่ยงที่จะได้รับผลตอบแทนไม่เท่ากัน มาตรการลดความเสี่ยงของเกษตรกรจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด