รายละเอียดบทคัดย่อ


อุรุพร เงยวิจิตร, อารีวิบูลย์พงศ์ และพัฒนา เจียรวิวริยะพันธุ์. 2548. ปัจจัยแห่งความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรในเขตภาคเหนือตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.24-33.

บทคัดย่อ

         เป็นที่คาดหวังว่าสหกรณ์การเกษตรซึ่งเป็นองค์กรชุมชนจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ภาคเกษตรมี ความเข้มแข็งขึ้นได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการดำเนินงานของสหกรณ์ด้านการเงินและเพื่อ ทราบปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตรในเขตสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ภูมิภาคที่ 10 โดย ครอบคลุมตัวอย่างสหกรณ์การเกษตรทั่วไป 65 สหกรณ์ โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากรายงานประจำปีของสหกรณ์ การเกษตรตัวอย่างในปี พ.ศ. 2538-2542 และข้อมูลปฐมภูมิจากแบบสอบถามทางไปรษณีย์ในปี 2544 ผลการศึกษาการดำเนินงานด้านการเงินของสหกรณ์การเกษตร พบว่า สหกรณ์การเกษตรมีสภาพคล่อง สูง มีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นได้ดี มีประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ และยังพบว่าสหกรณ์มี ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในเกณฑ์ดีมีความสามารถในการก่อหนี้ได้เพิ่ม และไม่มีความแตกต่างกันมาก ระหว่างก่อนและหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ คือช่วงปี พ.ศ. 2538-2540 และช่วงปี พ.ศ. 2541-2542 ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของสหกรณ์การเกษตร (พิจารณาจากอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายและ อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อทุน) โดยการวิเคราะห์อิทธิพล (path analysis) พบว่า ตัวแปรความพึงพอใจของสมาชิกมีผล ต่อความสำเร็จของสหกรณ์มากกว่าปัจจัยด้านการเงิน ในขณะที่ความพึงพอใจของสมาชิกอธิบายได้ดีที่สุดด้วย จำนวนสมาชิกที่เข้าใหม่ระหว่างปี รองลงมาคือ จำนวนสมาชิกที่ออกระหว่างปี มูลค่าเงินปันผลตามหุ้น มูลค่าเงินที่ รับฝากจากสมาชิก ดอกเบี้ยเงินฝาก มูลค่าธุรกิจสินเชื่อและความสามารถในการก่อหนี้ ตามลำดับ สำหรับ ความสามารถทางด้านการเงินนั้นอธิบายได้ดีที่สุดด้วยจำนวนสมาชิกที่เข้าใหม่ระหว่างปีเช่นกัน รองลงมาคือ จำนวนสมาชิกที่ออกระหว่างปี มูลค่าเงินปันผลตามหุ้น ความสามารถในการใช้สินทรัพย์ สภาพคล่องทางด้าน การเงินในระยะสั้นและความสามารถในการก่อหนี้ ตามลำดับ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินธุรกิจของ สหกรณ์ประสบผลสำเร็จจึงควรเน้นการสร้างความพึงพอใจให้กับ สมาชิกเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ สร้างความเข้มแข็งทางด้านการเงิน นอกจากนี้การศึกษาของผู้จัดการมีผล โดยตรงต่ออัตราส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายและควรได้รับความสนใจในเชิงนโยบายเช่นเดียวกับปัจจัยที่มีผลต่อ ความสำเร็จทางการเงิน