รายละเอียดบทคัดย่อ


กฤษฎา แก่นมณี, ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์, และอารี วิบูลย์พงศ์. 2548. ประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรในภาคเหนือของประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.110-118.

บทคัดย่อ

         การพัฒนาการเกษตรเป็นผลจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และนโยบายของภาครัฐบาล ที่ส่งผลกระทบกับโครงสร้างการผลิตและประสิทธิภาพทางการเกษตร บทความนี้นำเสนอผลการประเมินประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรในภาคเหนือของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2520 ถึง 2542 จากเขตเกษตรเศรษฐกิจในภาคเหนือ โดยใช้วิธีวิเคราะห์ Cointegration and Error Correction Mechanism ร่วมกับการวิเคราะห์ฟังก์ชันการผลิตแบบ Stochastic Frontier ผลการวิเคราะห์ พบว่า ระดับประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรของภาคเหนือมีค่าเฉลี่ย เท่ากับร้อยละ 82.20 เขตเกษตรเศรษฐกิจที่ 13 มีระดับประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด ร้อยละ 91.01 ต่อปี ขณะที่เขตเกษตรเศรษฐกิจที่ 11 มีค่าระดับประสิทธิภาพการผลิตต่ำสุดโดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 71.98 อัตราการเติบโตของผลผลิต ส่วนใหญ่เป็นผลเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของผลิตภาพปัจจัยการผลิตโดยรวม คิดเป็นร้อยละ 73.19 และเป็นผลเนื่องมาจาก ความเจริญเติบโตจากการใช้ปัจจัยการผลิตโดยรวม ร้อยละ 26.81 การเติบโตของผลผลิตภาคการเกษตรที่เป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านประสิทธิภาพการผลิตและการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีนั้น พบว่า การเปลี่ยนแปลงด้านประสิทธิภาพการผลิตมีส่วนช่วยให้เกิดการขยายตัวของผลผลิตภาคการเกษตรเฉลี่ยเพียงร้อยละ 4.21 ต่อปี ขณะที่ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสูงถึงร้อยละ 68.98 ต่อปี ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่ทำให้อัตราการเติบโตของผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ แรงงานภาคเกษตร พื้นที่เพาะปลูก และสินเชื่อเพื่อการเกษตร โดยส่งผลให้เกิดอัตราการเติบโตภาคเกษตรเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 2.34 ร้อยละ 0.34 และร้อยละ 25.64 ต่อปี ตามลำดับ ผลลัพธ์จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่านโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพควรตั้งอยู่บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทั้ง 3 ประการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเกษตรเศรษฐกิจที่ 13 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำพูน) และเขตเกษตรเศรษฐกิจที่ 12 (พะเยา ลำปาง และเชียงราย)