รายละเอียดบทคัดย่อ


บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ ช่อผกา ม่วงสุข. 2548. แนวทางการมีส่วนร่วมและการขยายผลเกษตรยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.181-190.

บทคัดย่อ

         แนวทางการมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาทางเกษตร มักจะถูกมองเป็นเครื่องมือหรือวิธีการที่ใช้เพื่อปรับปรุงการพัฒนา และส่งเสริมทางเลือกทางเทคโนโลยีแก่เกษตรกร ทำให้ละเลยถึงแนวคิดหลักของการมีส่วนร่วม ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการพัฒนาของชุมชนโดยชุมชนและเพื่อชุมชน การมีส่วนร่วมเป็นแนวทางที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนถึงความสามารถของการพึ่งตนเอง โดยอาศัยฐานการจัดองค์ความรู้ที่จะขับเคลื่อนพลังทางสังคมในการพัฒนา ดังนั้นในการนำ “การมีส่วนร่วม” สู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาจึงจำเป็นต้องปรับวิธีคิด เข้าใจความสัมพันธ์ พฤติกรรมมนุษย์และกลไกทางสังคมของกลุ่มและชุมชนที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แรงบันดาลใจหรือสิ่งจูงใจที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทั้งระดับปัจเจกและกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกัน การมีส่วนร่วมของเกษตรกร ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันมักจะสร้างนวัตกรรมทางสังคม ที่สนับสนุนต่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบระบบการผลิต การทดลอง ประเมินผล และการขยายผล บทความนี้เสนอ 4 กรณีศึกษาที่ใช้แนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาและขยายผลนวัตกรรมทางเกษตรของเกษตรกร ได้แก่ (1) การใช้แนวทางโรงเรียนเกษตรกรเพื่อพัฒนาระบบการผลิตผักปลอดสารพิษในเขตเกษตรชานเมือง บ้านปิงน้อย อ. สารภี จ. เชียงใหม่ เป็นกระบวนการทำงานร่วมกันที่ใช้ประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพและหลักสมดุลเชิงนิเวศน์ เพื่อควบคุมการระบาดของศัตรูพืชผัก การร่วมกำหนดหัวข้อและประเด็นที่จะเรียนรู้และปฏิบัติร่วมกัน พร้อมทั้งทักษะของการอำนวยการที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนจากการปฏิบัติจริงระหว่างเกษตรกร จนสามารถสร้างเกษตรกรผู้นำ กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตผักที่ใช้สารเคมีเป็นผักปลอดสารพิษภายในหนึ่งฤดู (2) การใช้แนวทางการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวนาน้ำฝน ได้สนับสนุนให้เกษตรกรแสดงศักยภาพ และสามารถอธิบายคุณสมบัติของภูมินิเวศน์นาน้ำฝนของภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกฉียงเหนือ พร้อมทั้งกำหนดลักษณะพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมในแต่ละภูมินิเวศน์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการคัดเลือกสายพันธุ์พ่อแม่ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การจำแนกลักษณะทางคุณภาพเมล็ดเพื่อบริโภคได้อย่างแม่นยำ และสามารถคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางคุณภาพเมล็ดใกล้เคียงพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 (3) การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ที่ ต. ขี้เหล็ก อ. แม่แตง จ. เชียงใหม่ เป็นกระบวนการทำงานกลุ่มในการพัฒนาวิธีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยผ่านแนวทางโรงเรียนเกษตรกร และการจัดระบบการจัดการภายในกลุ่มด้วยตนเอง จนเกิดเกษตรกรผู้นำ และกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ขยายที่มีคุณภาพ (4) กระบวนการจัดองค์ความรู้เกษตรยั่งยืนโดยผ่านเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน ซึ่งมีขีดความสามารถและทักษะด้านต่างๆ กลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ ได้ผ่านงานที่ปฏิบัติจริง มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มโดยการศึกษาดูงานและเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ การออกแบบการเรียนรู้โดยผ่านเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกรจนสามารถจัดระบบการผลิตที่สร้างความมั่นคงให้กับครัวเรือนและตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลง ผลการประเมินกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่า 1. ความต้องการของการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อการเรียนรู้จะมีน้อยในระดับแปลง แต่จะเพิ่มขึ้นตามลำดับในแปลงรวมผลิตเมล็ดพันธุ์และกิจกรรมที่ให้ผลปรโยชน์ร่วมกันและมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งนี้เวทีชุมชนจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพต่อการการขยายผล 2. ระดับการมีส่วนร่วม ของเกษตรกรมีความไม่เท่าเทียมกันในการนำเสนอ หรือการตั้งโจทย์เชิงพัฒนา แต่พบว่ากิจกรรมที่เกื้อหนุนต่อการทำงานร่วมกันจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และการขยายผลที่มีประสิทธิภาพ 3. ในกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิผล พบว่าเกษตรกรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้จากการปฏิบัติ เวทีแลกเปลี่ยน และบทบาทของแกนนำท้องถิ่นและผู้รู้จากภายนอก ทั้งนี้เพื่อขยายฐานความรู้และพัฒนาสิ่งใหม่ ที่ตอบสนองต่อความต้องการ 4. นวัตกรรมที่นำการพัฒนาโดยเกษตรกร พร้อมกับการสร้างภาคีที่มีคุณภาพ เช่น ภาคีปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน จะทำให้การขยายผลนวัตกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว