รายละเอียดบทคัดย่อ


วรรณภรณ์ เกษมศรี และธวัชชัย รัตน์ชเลศ. 2548. บทบาทและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการสารเคมีเกษตรต่อการผลิตทางเกษตรดีที่เหมาะสม : กรณีลำไยในภาคเหนือ .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.225-233.

บทคัดย่อ

         ความปลอดภัยของอาหารและสุขอนามัยพืช เป็นข้อกีดกันสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตร ผลผลิตลำไยจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้เช่นกัน ดังนั้นแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice; GAP) จึงถูกนำมาปรับใช้ในการผลิต ความสำเร็จของการผลิตตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสมจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร ภาครัฐ และเอกชน ร้านค้าสารเคมีเกษตรซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายปัจจัยการผลิต รวมถึงเป็นแหล่งความรู้ของเกษตรกร จึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จของแนวทางการผลิตนี้ด้วย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงบทบาทและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการสารเคมีเกษตร ต่อการพัฒนาการผลิตทางเกษตรที่ถูกต้องและเหมาะสม ดำเนินการโดยศึกษาจากเอกสาร การสำรวจและสัมภาษณ์ภาคสนาม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นผู้ประกอบการร้านค้าสารเคมีเกษตร จำนวน 145 ราย และเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จำนวน 100 ราย โดยสุ่มตัวอย่างจากร้านค้าสารเคมีเกษตรและเกษตรกรในเขต จ.ลำพูน ทุกอำเภอ และ 5 อำเภอใน จ.เชียงใหม่ ได้แก่ อ.ดอยหล่อ อ.จอมทอง อ.สารภี อ.สันป่าตอง และ อ.ฮอด ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกลำไยที่สำคัญของภาคเหนือ ข้อมูลที่ได้นำมาหาค่าอัตราส่วนร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน วัดระดับของบทบาทโดยวิธี likert scale สำรวจและสัมภาษณ์ระหว่าง พฤศจิกายน 2546-ตุลาคม 2547 จากร้านค้าที่สำรวจจำนวน 145 ร้าน พบว่าร้อยละ 82.1 จดทะเบียนเป็นผู้ค้าวัสดุอันตรายและจำหน่ายปุ๋ยเคมี กับกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับการบริการนั้น ร้านค้าส่วนใหญ่ร้อยละ 59.3 จำหน่ายสารเคมีเกษตรเพียงอย่างเดียว มีร้านค้าเพียงร้อยละ 9 จำหน่ายสารเคมีเกษตรในปริมาณ ร้อยละ 25 ของสินค้าทั้งหมด ด้านตำแหน่งเชิงพื้นที่พบว่า ร้านค้ากระจายตัวออกจากเมืองสู่ชนบทมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ที่ใจกลางของแต่ละอำเภอ สินค้าสำคัญของร้านค้ามี 5 กลุ่ม ได้แก่ ปุ๋ยเคมี สารฆ่าแมลง และสารควบคุมชีวภาพของพืช ปุ๋ยชีวภาพ และสารฆ่ารา ตามลำดับ สารฆ่าแมลงที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด ได้แก่ ไซเพอร์เมทริน สำหรับสารฆ่าราที่เกษตรกรนิยมซื้อไปใช้มากที่สุด ได้แก่ คาเบนดาซิม สารฆ่าวัชพืชที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ได้แก่ ไกลโฟเซต ซึ่งสารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์เหล่านี้อนุญาตให้ใช้ได้ในการผลิตลำไยตามแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม ข้อมูลที่ได้รับชี้ให้เห็นว่า ร้านค้าส่วนใหญ่มีการแนะนำและเสนอขายสินค้าที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกร และเกษตรกรก็มีความเชื่อถือและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบการ ร้านค้าจึงมีบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อแนวทางเกษตรดีที่เหมาะสม ข้อมูลยืนยันว่าผู้ประกอบการร้านค้าสารเคมีเกษตร ในพื้นที่ปลูกลำไยที่สำคัญของภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่ประกอบสัมมาชีพหรือมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ รวมทั้งมีการปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เช่น ไม่จำหน่ายสารเคมีเกษตรที่ทางราชการประกาศห้ามใช้ และแนะนำให้เกษตรกรเลือกใช้สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ที่ไม่มีพิษตกค้างเป็นเวลานาน เป็นต้น ด้านการให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารแก่เกษตรกร ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ และการส่งเสริมให้ใช้สารอื่นทดแทน เช่น สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์จากธรรมชาตินั้น มีบทบาทในระดับปานกลางหรือเกษตรกรยังไม่แน่ใจในบทบาทของร้านค้าในด้านนี้ แต่ด้านการมีส่วนร่วมกับชุมชน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้สารฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ