รายละเอียดบทคัดย่อ


บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล, พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ และ ณัชชา ลี้วิศิษฏ์พัฒนา. 2548. ความเชื่อมโยงระบบสังคม และระบบนิเวศน์เพื่อการจัดการทรัพยากร ความหลากหลายชีวภาพทางเกษตรอย่างยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.243-252.

บทคัดย่อ

         การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชุมชนเกษตร ดังเช่นได้พบเห็นในการจัดการความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น การจัดการป่าชุมชน การฟื้นฟูแหล่งน้ำและการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ตลอดจนการจัดการภูมินิเวศน์ระดับลุ่มน้ำ จำเป็นต้องผสมผสานแนวคิดเชิงระบบที่สนับสนุนการจัดการที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง กับแนวคิดสิทธิชุมชนและการเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรท้องถิ่น งานวิจัยได้ใช้กรณีศึกษา การจัดการความหลากหลายชีวภาพในพื้นที่ป่า ต. แม่แฝกใหม่ อ. สันทราย จ. เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจวิธีการจัดการป่าโดยอิงความรู้เชิงนิเวศน์ของชุมชน กรอบการวิเคราะห์ประกอบด้วย 1. ระบบนิเวศน์ 2. ชุมชนและเทคโนโลยี 3. ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 4. สิทธิชุมชน โดยให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ของสี่องค์ประกอบที่อธิบายความเชื่อมโยงระบบสังคมท้องถิ่นและระบบนิเวศน์ที่ส่งผลลัพธ์ไปสู่การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน กระบวนการวิจัยเน้นการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ การทำงานระหว่างนักวิจัย ผู้รู้ท้องถิ่นและชุมชน พัฒนาศักยภาพชุมชนโดยผ่านกระบวนการเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ มีการปฏิบัติจริง โดยร่วมสังเกตและติดตามเกษตรกร พร้อมทั้งประมวลผลแต่ละครั้งหลังการติดตามภาคสนาม เสนอผลการศึกษาเบื้องต้นให้กับชุมชนเพื่อศึกษาการสะท้อนกลับ และร่วมกำหนดแผนปฏิบัติงาน ตำบลแม่แฝกใหม่ ประกอบด้วย 13 หมู่บ้าน ชุมชนหมู่ 6 7 8 10 11และ 13 เป็นชุมชนชายขอบตั้งถิ่นฐานใกล้กับพื้นที่ป่าเบญจพรรณ ขาดแคลนพื้นที่นาได้อาศัยทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ป่าสร้างรายได้หลัก ในขณะที่หมู่บ้านที่เหลือตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรับน้ำชลประทานแม่แฝก มีระบบการผลิตที่เข้มข้นโดยมีข้าวเป็นพืชหลัก และเป็นแหล่งจ้างงานเกษตรให้กับชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานใกล้พื้นที่ป่า ทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ป่าที่สำคัญ เช่น ยอดใบอ่อนของไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม เห็ด และแมลงชนิดต่างๆ ได้สร้างรายได้สูงกว่า 35,000 บาทต่อปี ทุกคนทั้งในและนอกตำบลมีสิทธิเข้าถึงการใช้ประโยชน์เก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า แหล่งทรัพยากรชีวภาพความสมบูรณ์ของป่าได้ถดถอยจนทำให้การแสวงหาของป่าต้องใช้เวลานานมากขึ้น การจัดระเบียบเพื่อเฝ้าระวังป่าอนุรักษ์และป่าชุมชนยังไม่เป็นผล นอกจากนี้การบุกรุกพื้นที่ป่าของผู้มีอิทธิพลภายในและภายนอกท้องถิ่นได้มีส่วนทำให้การจัดระเบียบไม่ได้ผล ครัวเรือนที่มีอาชีพหลักในการเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่า โดยแบ่งหน้าที่ระหว่างชายหญิงอย่างชัดเจน เกษตรกรชายเข้าเก็บของป่าตั้งแต่เช้าตรู่และต้องกลับถึงบ้านช่วงบ่ายเพื่อเกษตรกรหญิงเป็นคนจัดการคัดพร้อมนำจำหน่ายให้ทันในช่วงบ่ายถึงเย็นในตลาดชุมชน (ตลาดเจดีย์แม่ครัว) การจัดระเบียบและการเฝ้าระวังพื้นที่ป่าชุมชนต้องการแกนนำในการพลักดันกิจกรรมต่างๆ ที่มีหลายฝ่ายร่วมดำเนินการ แผนปฏิบัติการของชุมชนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่ามีหลายรูปแบบที่ครอบคลุมการกำหนดกฎเกณฑ์ การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนัก กรณีศึกษาที่เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ป่าที่ยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่นี้ ความโปร่งใสของการทำงาน ข้อมูลบทสังเคราะห์ที่ผ่านการกลั่นกรองจากชุมชน ความไว้วางใจและความเชื่อถือ และการมองการจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องของการ “จัดการคน” เป็นศูนย์กลาง พร้อมทั้งการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิชุมชนและสถาบันท้องถิ่น ช่วยปรับปรุงผลการทำงานอย่างมีส่วนร่วมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดแผนปฏิบัติงานที่นำไปปฏิบัติได้จริง