รายละเอียดบทคัดย่อ


จตุรงค์ พวงมณี, จำลอง โพธาเจริญ, สมเกียรติ สุวรรณคีรี, สิทธิชัย ลอดแก้ว, ศักดิ์มนตรี นาชัยเวียง และ กุหลาบ อุตสุข. 2548. การออกแบบระบบการผลิตผักปลอดสารพิษอย่างยั่งยืนในพื้นที่เกษตรชานเมือง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.261-276.

บทคัดย่อ

         การศึกษาวิธีการผลิตผักปลอดสารพิษจนประสบความสำเร็จ สามารถผลิตผักปลอดสารพิษ ณ ศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยใช้วิธีการบริหารศัตรูพืชแบบผสมผสาน มีวิธีการปฏิบัติดังนี้ 1. วิธีกล ใช้กับดัก ถาดเหลือง กาวเหนียว จับฆ่าทำลาย 2. วิธีเขตกรรม โดยเน้นความหลากหลายของผักปลูกหมุนเวียน และฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยปุ๋ยคอก 3. การปรับสภาพแวดล้อม เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นที่อาศัยและขยายพันธุ์ของศัตรูธรรมชาติ พบว่าสามารถผลิตผักปลอดสารพิษได้ในระดับที่น่าพอใจ จึงได้นำเทคโนโลยีการผลิตผักปลอดสารพิษเผยแพร่สู่เกษตรกร โดยวิธีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้การผลิตผักปลอดสารพิษแก่เกษตรกร และพร้อมกับรับสมัครเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารพิษ และทำการคัดเลือกเกษตรกรที่พร้อมจะปลูกผักปลอดสารพิษ โดยเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการในระดับไร่นา และมีเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ ให้คำแนะนำ ได้คัดเลือกพื้นที่เกษตรกรรมบ้านหนองโค้ง หมู่ที่ 4 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ปลูกผัก พร้อมกับทำการศึกษาข้อมูลด้านการผลิตและปัญหาการผลิตผักของเกษตรกร ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรสามารถทำการผลิตผักปลอดสารพิษ ประสบผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าระบบการผลิตผักที่นำไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรนั้น เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ช่วยสร้างอาชีพให้แก่เกษตรกร และเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน