รายละเอียดบทคัดย่อ


ชาญชัย แสงชโยสวัสดิ์. 2548. การประมาณช่วงฤดูปลูกพืชเชิงพื้นที่ในภาคเหนือตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.398-406.

บทคัดย่อ

         การประมาณช่วงความยาวของฤดูกาลเพาะปลูกพืชเชิงพื้นที่ เพื่อพัฒนาเป็นฐานข้อมูลสำหรับการปลูกพืชในระบบการผลิตพืชหนึ่ง ๆ โดยอาศัยข้อมูลภูมิอากาศรายวัน ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลจากสถานีวัดอากาศในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้จากการพัฒนาชั้นข้อมูลสภาพภูมิอากาศเชิงพื้นที่ และทำการศึกษาเปรียบเทียบวิธีการประเมินช่วงฤดูกาลเพาะปลูกพืช 2 แนวทาง คือ วิธี FAO และ Stern ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการจำแนกเขตนิเวศเกษตร ผลการประเมินวันเริ่มฤดูปลูกโดยใช้วิธี FAO และ Stern พบว่าทั้ง 2 วิธีใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน และค่าศักยภาพการคายระเหยน้ำในการประเมินเหมือนกัน ขณะที่การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของข้อมูลวันสิ้นฤดูปลูกของทั้งสองวิธีการมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการของ Stern ได้นำค่าความชื้นในดินที่เหลือก่อนวันประเมินมาประมาณค่า จากการเปรียบเทียบผลการประมาณค่าโดยใช้ตำแหน่งที่สุ่มแบบตารางกริดในพื้นที่ทั้งหมด 41 จุด พบว่าวันเริ่มฤดูปลูกโดยวิธีการของ FAO จะเริ่มก่อนวิธี Stern อยู่ประมาณ 0 -11 วัน ขณะที่วันสิ้นสุดฤดูปลูกของวิธี Stern จะล่าช้ากว่าวิธีการ FAO ประมาณ 11 – 20 วัน ซึ่งผลการประเมินช่วงความยาวฤดูปลูกในพื้นที่ศึกษาพบว่าวิธีการ Stern จะมีช่วงที่กว้างกว่าวิธีการ FAO ประมาณ 11 – 29 วัน ดังนั้นชั้นข้อมูลเชิงพื้นที่ช่วงฤดูปลูกที่สร้างขึ้นโดยแนวทางของ Stern ที่ใช้ข้อมูลความเป็นประโยชน์ของน้ำในดิน น่าจะเหมาะสมและสามารถนำไปพัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูล เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และสนับสนุนการจำแนกระบบนิเวศเกษตรเชิงพื้นที่ต่อไป