รายละเอียดบทคัดย่อ


วัฒนา พัฒนถาวร และเมธี เอกะสิงห์. 2548. การเชื่อมโยงระหว่างแหล่งน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชในระบบภูมิสารสนเทศ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.407-415.

บทคัดย่อ

         พื้นที่เกษตรกรรมในเขตชลประทานของจังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและลำพูน ได้รับน้ำจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝาย การสูบน้ำด้วยไฟฟ้า และน้ำใต้ดิน แต่ยังไม่มีการจัดเก็บฐานข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งน้ำและพื้นที่รับน้ำชลประทานในระบบภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่รับน้ำชลประทานขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งมีเป็นจำนวนมากในภาคเหนือตอนบน การจัดทำข้อมูลดังกล่าวโดยการสำรวจภาคสนามทุกพื้นที่เพาะปลูกจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและเวลาเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อระบุความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งน้ำและพื้นที่รับน้ำ เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลิตภาพของน้ำและที่ดิน งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่าง แหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ กับพื้นที่รับน้ำ โดยอาศัยข้อมูลภูมิประเทศเชิงตัวเลขและเครือข่ายลุ่มน้ำ ร่วมกับเทคนิคและวิธีการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของแหล่งน้ำและข้อจำกัดของข้อมูล ผลการศึกษาพบว่า การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ดังกล่าว สามารถทำได้โดยการวิเคราะห์แบบซ้อนทับในระบบ ภูมิสารสนเทศ และเทคนิคในการสร้างขอบเขตพื้นที่ของโครงการฝายและอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กให้ความถูกต้องเฉลี่ยร้อยละ 80 ส่วนการสร้างขอบเขตพื้นที่รับน้ำจากโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้ามีความถูกต้องร้อยละ 72 ทำให้สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน ฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศที่สร้างขึ้นสามารถแสดงที่มาของแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่เพาะปลูกพืช โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้ง หรือพื้นที่รับน้ำในแต่ละโครงการชลประทานในรูปของแผนที่ นอกจากนี้ตารางความสัมพันธ์ยังสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ๆ เช่น ต้นทุนการผลิต ผลผลิต และการใช้น้ำของพืช เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโครงการชลประทานและผลิตภาพของการใช้ที่ดิน อันจะนำไปสู่การสร้างระบบสนับสนุนวางแผนและตัดสินใจการบริหารและจัดการน้ำในอนาคต