รายละเอียดบทคัดย่อ


ปิ่นเพชร สกุลส่องบุญศิริ และเมธี เอกะสิงห์. 2548. การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศเครือข่ายลุ่มแม่น้ำในภาคเหนือตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.416-425.

บทคัดย่อ

         ลุ่มน้ำเป็นหน่วยแผนที่ที่นิยมนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการเกษตร และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากขอบเขตลุ่มน้ำเป็นขอบเขตของระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การฟื้นฟูทรัพยากรดินและการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยขอบเขตลุ่มน้ำย่อย ตลอดจนเครือข่ายของลุ่มน้ำย่อย เพื่อช่วยในการระบุลุ่มน้ำที่มีปัญหาหรือเป็นแหล่งที่มาของปัญหาซึ่งส่งผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป้าหมาย การกำหนดขอบเขตและเครือข่ายลุ่มน้ำย่อยในอดีตเป็นงานที่สิ้นเปลืองเวลา และไม่มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนตามลักษณะและขอบเขตของปัญหา รายงานนี้จะนำเสนอวิธีการพัฒนาฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศเครือข่ายลุ่มน้ำย่อยและ อุทกวิทยาในพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือตอนบนที่ครอบคลุมลุ่มน้ำแม่ขาน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำหลักปิง ในจังหวัดเชียงใหม่ วิธีการสร้างเครือข่ายลุ่มน้ำเริ่มจากการออกแบบผังโครงสร้างข้อมูลเชิงพื้นที่ของเครือข่ายลุ่มน้ำย่อยตามรูปแบบของ Unified Modeling Language (UML) จากนั้นนำข้อมูลภูมิประเทศแบบจำลองระดับความสูงเชิงตัวเลข (Digital Elevation Model, DEM) ที่สร้างขึ้นจากเส้นชั้นความสูง จุดระดับสูง และเส้นทางน้ำของแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000 ทำการสร้างโครงข่ายลำน้ำ จุดรวมน้ำ และขอบเขตลุ่มน้ำย่อยในระบบภูมิสารสนเทศ ทั้งนี้ได้ใช้ระบบ Pfafstetter ในการจัดทำขอบเขตลุ่มน้ำและกำหนดรหัสของลุ่มน้ำอย่างเป็นลำดับชั้นจากลุ่มน้ำหลักถึงลุ่มน้ำย่อย ทำให้การจัดเก็บข้อมูลเครือข่ายลำน้ำและการกำหนดรหัสลุ่มน้ำย่อยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสะดวกต่อการเรียกใช้ฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศตามชื่อของลำน้ำ และเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้งานจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม และการนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นในระบบสนับสนุนการวางแผนจัดการทรัพยากรเพื่อการเกษตรต่อไป