รายละเอียดบทคัดย่อ


พันธุ์ทิพย์ นนทรี และ อรรถชัย จินตะเวช. 2548. การจำลองการตอบสนองของมันฝรั่งต่อการจัดการปุ๋ยแบบต่างๆ.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.461-469.

บทคัดย่อ

         เพื่อศึกษาการจัดการปุ๋ยเคมีที่มีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตมันฝรั่งในพื้นที่หมู่บ้านห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ และการจำลองการตอบสนองของมันฝรั่งต่อการจัดการปุ๋ยแบบต่าง ๆ โดยการศึกษาครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองงานทดลองซึ่งมีวันปลูกที่แตกต่างกันคือวันที่ 28 ตุลาคม และ 23 ธันวาคม 2545 ตามลำดับ โดยงานทดลองแรก วางแผนการทดลองแบบ split-plot design RCB ทำ 4 ซ้ำ ซึ่งมีพันธุ์มันฝรั่งเป็น main plot และการจัดการปุ๋ยเป็น sub plot พันธุ์มันฝรั่งมี 2 ระดับ ได้แก่ พันธุ์แอตแลนติกและพันธุ์สปุนต้า การจัดการปุ๋ยเคมี 3 ระดับ ได้แก่ ไม่มีการใส่ การจัดการแบบเกษตรกร และการจัดการตามช่วงพัฒนาการพืชและคุณภาพดิน สำหรับงานทดลองแรกนี้มีปริมาณธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในดินก่อนปลูกเท่ากับ 4 กก.ต่อไร่ 22 กก.ต่อไร่ และ 46 กก.ต่อไร่ ตามลำดับ ผลการทดลองที่ 1 พบว่า ช่วงสร้างหัว น้ำหนักแห้งใบและหัวไม่มีความแตกต่างระหว่างพันธุ์ ส่วนน้ำหนักแห้งต้นและดัชนีพื้นที่ใบมีความแตกต่างกันระหว่างพันธุ์ โดยพันธุ์สปุนต้ามีน้ำหนักแห้งต้นมากกว่าพันธุ์แอตแลนติก และพันธุ์แอตแลนติกมีดัชนีพื้นที่ใบมากกว่าพันธุ์สปุนต้า เมื่อเปรียบเทียบการจัดการปุ๋ยพบว่า ทุกการจัดการปุ๋ยให้น้ำหนักหัวและดัชนีพื้นที่ใบไม่แตกต่างกัน แต่มีความแตกต่างของน้ำหนักแห้งใบและต้น โดยการจัดการแบบเกษตรกรให้น้ำหนักแห้งใบและต้นมากกว่าไม่มีการใส่ปุ๋ยและการจัดการตามช่วงพัฒนาการพืชและคุณภาพดิน สำหรับช่วงกลางการเจริญเติบโตของหัว พันธุ์สปุนต้ามีน้ำหนักแห้งต้น ใบ หัว และดัชนีพื้นที่ใบในทุกระดับการจัดการปุ๋ยไม่แตกต่างกัน และที่ช่วงเก็บเกี่ยว พันธุ์แอตแลนติกมีน้ำหนักแห้งต้น ใบ หัว และดัชนีพื้นที่ใบไม่แตกต่างกันในทุกระดับการจัดการปุ๋ย ส่วนงานทดลองที่ 2 เปรียบเทียบการจัดการปุ๋ยเคมีกับมันฝรั่งพันธุ์สปุนต้า โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB ทำ 4 ซ้ำ โดยมีปริมาณธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมในดินก่อนปลูกเท่ากับ 1 กก.ต่อไร่ 19 กก.ต่อไร่ และ 50 กก.ต่อไร่ ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่า ช่วงสร้างหัว ช่วงกลางการเจริญเติบโตของหัว และที่ช่วงเก็บเกี่ยว ค่าน้ำหนักแห้งต้น ใบ และหัว รวมทั้งดัชนีพื้นที่ใบ ไม่มีความแตกต่างกันสำหรับทุกระดับการจัดการปุ๋ย สำหรับการจำลองการตอบสนองของมันฝรั่งต่อการจัดการปุ๋ยเคมีแบบต่าง ๆ พบว่าการจำลองพัฒนาการการเริ่มเกิดหัวของมันฝรั่งพันธุ์แอตแลนติกและพันธุ์สปุนต้าทั้งสองงานทดลองไม่ใกล้เคียงกับค่าสังเกต จึงทำให้การคาดการณ์การเติบโตของมันฝรั่งไม่ใกล้เคียงกับค่าสังเกต ดังนั้นจึงควรมีการทำการทดลอง เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์พันธุกรรมที่เหมาะสม เพื่อใช้ในการทดสอบแบบจำลอง เพื่อจะนำไปใช้ในการคาดการณ์ จัดการการผลิตมันฝรั่งที่มีประสิทธิภาพต่อไป