รายละเอียดบทคัดย่อ


พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ. 2548. ความมั่นคง ความปลอดภัยและอธิปไตยของระบบอาหารกับการเกษตรไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.155-163.

บทคัดย่อ

         การประชุม Earth Summit ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2535 และการประชุมสุดยอดอาหารที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในปี 2539 ได้สร้างความตระหนักให้กับสาธารณชนด้านความมั่นคงทางอาหาร และส่งผลกระทบต่อการพัฒนากรอบทำงานเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และต่อการจัดทำโครงการเพื่อขจัดความอดอยาก ลดปัญหาความยากจน และบรรลุเป้าหมาย “อาหารเพื่อทุกคน” สำหรับประเทศไทยความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเป็นฐานหลักที่ค้ำจุนความมั่นคงของประเทศ ดังได้เป็นที่ประจักษ์หลังจากเกิดวิกฤตทางการเงินเมื่อ 2 กรกฎาคม 2540 ปัจจุบันนโยบายการพัฒนาเกษตรไทยสู่ครัวโลก เป็นมิติใหม่ที่ต้องการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอาหารและเกษตรไทยสู่สากลที่ให้ความสำคัญกับความสะอาดปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และระบบการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนแนวทาง รูปแบบ และทางเลือกของระบบเกษตรและการจัดการทรัพยากรหลังวิกฤตทางการเงินที่มีผลต่อความมั่นคง ความปลอดภัย และอธิปไตยของระบบอาหาร ทั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตชุมชน ระบบอาหารท้องถิ่นการจัดการของเกษตรกรที่สนองต่อการเปลี่ยนแปลง และสิทธิชุมชน โดยได้คัดเลือกกรณีตัวอย่างเสริมสร้างศักยภาพชุมชนในการพึ่งตนเอง ได้แก่ (1) การพัฒนาและการขยายผลปุ๋ยน้ำสกัดชีวภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต (2) การผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน (3) การปรับใช้เกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน (4) การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบการผลิตที่ยั่งยืน (5) การจัดการทรัพยากรโดยชุมชน (6) การใช้แนวทางโรงเรียนเกษตรกรเพื่อสร้างเสริมสมรรถนะของเกษตรกรต่อการปรับเปลี่ยนทางเกษตร (7) เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านกับการจัดการองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (8) โครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และ (9) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติกับการพัฒนาเกษตรยั่งยืน กรณีศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนทางสังคมเป็นพลังที่สำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคง ความปลอดภัย และอธิปไตยทางอาหาร ซึ่งมีหลายมิติ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการผลิต องค์ความรู้ การบริหารจัดการ การมีวินัยของชุมชน และเครือข่ายที่มีคุณภาพ