รายละเอียดบทคัดย่อ


ไพโรจน์ สุวรรณจินดา. . ศักยภาพในการให้ผลผลิตและผลพลอยได้ของพืชในระบบการปลูกพืชผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ในภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.55-67.

บทคัดย่อ

         ภาคใต้ตอนล่างมีพื้นที่ถือครองทางการเกษตรประมาณ 83 ล้านไร่ แต่มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพื่อการปศุสัตว์โดยตรงในการเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 0.21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,2538) ดังนั้น ความพยายามในการที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาการเลี้ยงโคจึงประสบกับปัญหา จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ในปี 2540 พบว่า ภาคใต้ตอนล่างมีโคเนื้อจำนวน 528,967 ตัว และโคนม จำนวน 2,173 ตัว โดยจังหวัดพัทลุง ตรัง และสงขลา มีจำนวนโคนมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 57.52 13.44 และ 12.70 ของจำนวนโคนมที่มีในภาคใต้ตอนล่าง ตามลำดับ ในขณะที่เป้าหมายตามแผนพัฒนาการเลี้ยงโคนมได้กำหนดให้มีโคนมจำนวน 5,000 แม่ ภายในปี 2545 การเลี้ยงโคนมในจังหวัดพัทลุงในปี 2538 มีจำนวนโคนม 1,407 ตัว แต่ต่อมาในปี 2541 จำนวนโคนมลดลงเหลือ 1,338 ตัว (สำนักงานปสุสัตวืจังหวัดพัทลุง, 2541) เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ การผลิตพืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอทำให้ต้นทุนการเลี้ยงโคนมในภาคใต้ตอนล่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดพัทลุงประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ทุนในการจัดซื้ออาหารข้น ทำให้ต้นทุนการผลิตนำนมดิบสูงขึ้น ซึ่งหากมีการพัฒนาระบบปลูกพืชแบบผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายขึ้นก็จะสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนที่ใช้อาหารข้นได้มาก (Sophanodorn, P., 1997) ทั้งนี้ ในการเปรียบเทียบราคาไม่ว่าจะเป็นราคาต่อหน่วยน้ำหนักหรือราคาต่อหน่วยคุณค่าทางอาหารสัตว์ อาหารหยาบซึงได้แก่ พืชอาหารสัตว์และเศษเหลือจากพืชชนิดต่างๆ จะเป็นแหล่งของอาหารโคที่มีราคาถูกกว่าวัตถุดิบที่เป็นอาหารข้น (ประวีร์และสายัณห์, 2531) จึงมีความเป็นไปได้ที่เกษตรกรจะสามารถเพิ่มกำไรจากการเลี้ยงโค โดยการเพิ่มสัดส่วนของพืชอาหารสัตวืและเศษเหลือของพืชที่สามารถใช้เป็นอาหารหยาบทดแทนสัดส่วนของอาหารข้น ดังนั้น การวิจัยเพื่อการปรับใช้เทคโนโลยีระบบการปลูกพืชในภาคใต้ เพื่อการผลิตพืชอาหารสัตว์หรือผลิตพืชที่สามารถใช้เศษเหลือเป็นอาหารหยาบในการเลี้ยงปศุสัตว์ จะสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์และแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบในการเลี้ยงโคในช่วงฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งของภาคใต้ได้ อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดระบบการปลูกพืช เพิ่มมูลค่าของพืชและลดต้นทุนการผลิตสัตว์ของเกษตรกร