รายละเอียดบทคัดย่อ


ปิยะนุช เจริญศรี, วิเชียร จาฎพจน์, อภินันท์ กำนัลรัตน์ และ สมยศ ทุ้งหว้า. . การประเมินความยั่งยืนของระบบไร่นาสวนผสมบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.106-118.

บทคัดย่อ

         การศึกษาเกี่ยวกับการประเมินความยั่งยืนของระบบไร่นาสวนผสม บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาแนววิธีการประเมินความยั่งยืน เพื่อนำไปประเมินความยั่งยืนระบบไร่นาสวนผสมของเกษตรกรในพื้นที่การศึกษา ขั้นตอนการประเมินความยั่งยืนประกอบด้วย การศึกษารูปแบบและการกระจายตัวของการทำไร่นาส่วนผสม การวิเคราะห์ปัญหาและผลกระทบที่มีต่อการทำไร่นาสวนผสม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคัดเลือเกณฑ์การวินิจฉัย แนวทางการให้น้ำหนัก การกำหนดตัวชี้วัดและเกณฑ์การวัด และการประเมินความยั่งยืน ผลการศึกษาพบว่า บริเวณพื้นที่ศึกษามีลักษณะภูมิประเทศที่ประกอบด้วยพื้นที่ราบลุ่มน้ำทะเลเคยท่วมถึงและพื้นที่ราบน้ำทะเลท่วมถึงซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักถึงร้อยละ 73 ของพื้นที่ศึกษาในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะการใช้ที่ดินเพื่อการทำนาเป็นหลัก และรองลงมาคือการทำไร่นาสวนผสมและใช้เป็นที่อยู่อาศัย ผลการศึกษาการทำไร่นาสวนผสมในพื้นที่ศึกษาพบว่ามีการทำไร่นาสวนผสม 4 ลักษณะ คือ การทำไร่นาสวนผสมขนาดเล็กบนพื้นที่ราบมากที่สุดประมาณร้อยละ 88 การทำไร่นาสวนผสมขนาดใหญ่บนพื้นที่ราบพบประมาณร้อยละ 5 การทำไร่นาสวนผสมบนพื้นที่ราบระหว่างสันทรายพบประมาณร้อยละ 4 และการทำไร่นาสวนผสมบนพื้นที่สันทรายพบประมาณร้อยละ 3 ปัญหาและผลกระทบที่สำคัญที่มีต่อการทำไร่นาสวนผสมรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ปัญหาการระบาดของศัตรูพืชคือหนอนเจาะยอดมะม่วงอันเป็นพืชหลักของระบบไร่นาสวนผสมในพื้นที่ศึกษา ข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์จากน้ำ ปัญหาเรื่องแรงงานไม่เพียงพอ เป็นต้น ผลจากการวิเคราะหืปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ศึกษาได้นำมาสู่การพัฒนาคัดเลือกเกณฑ์การวินนิจฉัย ตามองค์ประกอบของความยั่งยืน 5 ประการ คือ ผลิตภาพ เสถียรภาพ การป้องกัน ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และการเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยทำการคัดเลือกเกณฑ์การวินิจฉัยได้ 10 เกณฑ์ คือ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้ประโยชน์จากน้ำ การระบาดของโลกและแมลงศัตรูพืช ระดับการจัดการดูแลภายในสวน การเกิดภัยธรรมชาติ ความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ ความเพียงพอของแรงงาน ความสามารถในการพึ่งตนเอง และการเป็นแหล่งจ้างแรงงานในพื้นที่ กำหนดค่าถ่วงน้ำหนักเกณฑ์การวินิจฉัยแต่ละตัวจากการสอบถามผู้ชำนาญการสาขาต่างๆ และกำหนดตัวชี้วัดและเกณฑ์การวัดเพื่อนำไปสู่การประเมินความยั่งยืน แนวทางการประเมินความยั่งยืนในครั้งนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อดำเนินการพัฒนาให้ตรงกับสภาพปัญหาของพื้นที่และทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ต่อไปในอนาคต