รายละเอียดบทคัดย่อ


สมบัติ ตงเต้า, สำเริง ช่างประเสริฐ,ละเอียด ปั้นสุข และ จรัส กิจบำรุง. . เครือข่ายการเรียนรู้กับการพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาวิธีการปลูกข้าวในเขตชลประทานภาคกลาง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.180-203.

บทคัดย่อ

         การพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม (Participatory technology Development หรือ PTD) เป็นกระบวนการสำคัญที่โครงสร้างพัฒนาการเกษตรยั่งยืน (Sustainable Agriculture Development Project หรือ SADP) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การดำเนินงานหลักโดยกรมวิชาการเกษตร ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเข้าไปพัฒนเสริมสร้างขีดความสามารถของระบบการผลิตและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม เพื่อการกินดีอยู่ดี มีเสถียรภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชน ในการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน กรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร ซึ่งเป็นผู้แทนของกรมวิชาการเกษตรในส่วนภูมิภาคเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงาน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 5 ในนามผู้ประสานงานโครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืนภาคกลาง ได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนธันวาคม 2542 เป็นต้นมา จนสิ้นสุดโครงการระยะแรกในเดือนเมษายน 2545 โดยเข้าไปดำเนินงานกับกลุ่มเกษตรกร 11 กลุ่ม 7 จังหวัด ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนเชิงกลัด จังหวัดสิงห์บุรี กลุ่มเกษตรเชิงกลัดยั่งยืน จังหวัดสิงห์บุรี โรงเรียนเกษตรกรบ้านหลั่น จังหวัดชัยนาท กลุ่มป่าชุมชนบ้านเขาราวเทียนทอง จังหวัดชัยนาท สมาคมเกษตรกรพัฒนาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม จังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดสารพิษบ้านภูน้ำทิพย์ จังหวัดลพบุรี กลุ่มป่าชุมชนเครดิตยูเนียมในเขตพื้นที่ สปก.ลานสัก จังหวัดอุทัยธานี กลุ่มเกษตรกรทำสวนจระเข้สามพัน จังหวัดสุพรรณบุรี ชมรมเกษตรกรผู้ปลูกผักตำบลองค์พระ จังหวัดสุพรรณบุรี ชมรมพืชผักและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ จังหวัดกาญจนบุรี และกลุ่มแม่บ้านพังตรุน้อมเกล้าและเครือข่าย จังหวัดกาญจนบุรี ในการดำเนินงานสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ใช้เครือข่ายเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ซึ่งสามารถจัดรูปแบบของเครือข่าย โดยกลุ่มเกษตรกรทั้ง 11 กลุ่ม เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจได้ 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายการผลิตข้าว เครื่อข่ายการผลิตผัก และเครือข่ายป่าชุมชนและเกษตรผสมผสาน แต่ละเครือข่ายมีสมาชิก 4 5 และ 6 กลุ่ม ตามลำดับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จะทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อ (facilitator) ให้เครือข่ายพบกันและร่วมกันพิจารณาเทคโนโลยีที่จะดำเนินงานโดยใช้วิธีการผสมผสานเทคโนโลยีที่เกิดจากภูมิปัญญาของสมาชิกเครือข่ายในแต่ละกลุ่ม และความรู้ทางวิชาการ เป็นแนวทางในการกำหนดวิธีการดำเนินงานและปรับวิธีการดำเนินงานทุกๆขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนสิ้นสุดการดำเนินงาน ในส่วนของเครือข่ายการผลิตข้าวสมาชิกเครือข่ายประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรทำสวนจระเข้สามพันโรงเรียนเกษตรกรบ้านหลั่น กลุ่มเกษตรเชิงกลัดยั่งยืน กลุ่มเกษตรกรทำสวนเชิงกลัด และกลุ่มแม่บ้านพังตรุน้อมเกล้า และเครือข่าย จากหลักการที่เปิดให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในากรดำเนินงานทุกขั้นตอน พบว่าสมาชิกเครือข่ายการผลิตข้าวให้ควมสนใจถึงพิษภัยของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพและต่อสภาพแวดล้อมและตระหนักถึงต้นทุนที่ใช้ในการผลิตข้าว ซึ่งนับวันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงร่วมกันระดมความคิด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการลดหรือเลิกการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ซึ่งสมาชิกเครือข่ายมีการใช้กันมากและมีผลต่อคุณภาพชีวิตสิ่งแวดล้อมตลอดจนต้นทุนการผลิตของสมาชิกเป็นอย่างมาก เทคโนโลยีที่นำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ในส่วนของภูมิปัญญาเกษตรกรมีหลากหลายวิธี เช่น การลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ การใช้น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพทดแทนปุ๋ยเคมี และสารเคมี การใช้กระบวนการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน การไม่เผาฟางและลดการไถพรวน เป็นต้น สำหรับในส่วนของความรู้ทางวิชาการได้นำผลงานวิจัย การใช้ปุ๋ยชีวภาพอัลจินัว ซึ่งฝ่ายวิจัยเกษตรกรรม สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้ทดสอบในพื้นที่เขตชลประทานภาคกลางแล้วว่าได้ผลดี เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการทดสอบ จากภูมิปัญญาของสมาชิกเครือข่ายและความรู้ทางวิชาการได้ผสมผสานกันจนเกิดองค์ความรู้ใหม่ในการผลิตข้าวสำหรับให้สมาชิกเครือข่ายใช้เป็นทางเลือก โดยในปี 2543 มี 3 วิธี และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาลผลิตในปี 2543 สมาชิกเครือข่ายได้สรุปผลการทดสอบคัดเลือกและปรับปรุงจนเหลือเพียง 2 วิธี ในปี 2544 และ 1 วิธี ในปี 2545 ผลสรุปจากการทดสอบเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นวิธีการผลิตปัญหาและอุปสรรคตลอดจน ผลสำเร็จจากการปฏิบัติได้ขยายผลจากเครือข่ายสู่กลุ่ม จากกลุ่มสู่สมาชิก และจากสมาชิกด้วยกัน ผานเวทีเครือข่าย ผ่านการประชุมกลุ่ม และจากการได้เห็นของจริงจากแปลงเกษตรกรที่ร่วมทำการทดสอบโดยตรง ตามลำดับ การพัฒนาเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วมผ่านเครือข่ายการเรียนรู้ได้หลากหลาย กว้างขวางและสามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการเครือข่าย ยังทำให้เกิดความเอื้ออาทรซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกเครือข่ายทำให้ได้เพื่อนต่างกลุ่มต่างพื้นที่สร้างภาวะผู้นำและความเข้มแข็งในกลุ่ม อันนำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ซึ่งเป็นวิถีทางที่นำไปสู่ความยั่งยืนได้ในที่สุด