รายละเอียดบทคัดย่อ


ประเสริฐ วุฒิคัมภีร์, พีรชัย วงศ์เลิศ, ชาติ เทียมทอง และ วิทยา ศรีทานันท์. . ระบบวนเกษตรเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูเห็ดธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.318-330.

บทคัดย่อ

         เห็ดธรรมชาติเป็นอาหารพื้นบ้านที่สำคัญของชาวอีสาน เห็ดมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง โดยมีปริมาณโปรตีนในดอกสดร้อยละ 3-6 ซึ่งสูงกว่าผักโดยทั่วไป เห็ดธรรมชาติเป็นผลิตผลที่นับวันจะยิ่งลดน้อยถอยลงไปทั้งชนิด และปริมาณตามการลดลงของพื้นที่ป่า โดยที่เเห็ดธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นไมโคไรซ่า จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยต้นไม้ในการเจริญ และออกดอก รวมทั้งเป็นผู้ย่อยสลายที่สำคัญในระบบนิเวศของป่า จึงสมควรที่จะฟื้นฟูและอนุรักษ์ควบคู่กันไป ดังนั้น หากจัดระบบวนเกษตรหรือปลูกไม้ยืนต้นที่เหมาะสมจะมีผลเอื้ออำนวยให้ได้เห็ดธรรมชาติเกิดขึ้นในระบบด้วย จากการเก็บข้อมูลและศึกษาระบบวนเกษตรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ปี 2541-2545 พบว่า การนำยางนามาปลูกในไร่นา บนโคกหรือบนคันนาที่นา นายพิทักษ์ ประเสริฐรัมย์ กิ่งอำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเวลาประมาณ 7 ปี เริ่มมีเห็ดธรรมชาติเกิดขึ้นในพื้นที่มากขึ้นเป็นลำดับ (เห็ดน้ำหมาก เห็ดเผาะ ฯลฯ) การนำต้นพะยอมมาปลูกในศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี พบเห็ดระโงกและเห็ดก่อ เกิดขึ้นบริเวณโคนต้น การอนุรักษ์ป่าในพื้นที่ของนายคำดี สายแว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นระยะเวลา 3-5 ปี ปรากฏว่า พบเห็ดผึ้งชาด เห็ดระโงก เห็ดโคนและเห็ดอื่นอีกหลายชนิดเกิดขึ้นในปริมาณมาก ในปี 2544 ได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 700 กก./ปี ในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ และพบเห็ดผึ้งยูคา (เห็ดเสม็ด) ประมาณ 500 กก. ในพื้นที่ปลูกยูคาลิปตัส ประมาณ 5 ไร่ และพื้นที่ป่าชุมชนโนนใหญ่ กิ่งอำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ พื้นที่ 2,200 ไร่ เป็นป่าผสมระหว่างป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ เมื่ออนุรักษ์ป่าไว้ได้ระยะหนึ่ง มีปริมาณเห็ดเพิ่มขึ้น และเป็นแหล่งเก็บเห็ดธรรมชาติของชาวบ้านหลายหมู่บ้าน แม้กระทั่งต่างอำเภอหรือต่างจังหวัด ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5,000 กก./ปี ดังนั้น หากมีการสรรสร้างระบบนิเวศป่าอย่างเหมาะสม จะมีผลชักนำให้ได้ผลผลิตเห็ดธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นทั้งชนิดและปริมาณเป็นการเพิ่มผลิตภาพทางอาหารที่สำคัญให้เพิ่มขึ้นในระบบวนเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการอนุรักษ์อาจมีผลกระทบต่อการลดน้อยลงของเห็ดบางชนิดได้