รายละเอียดบทคัดย่อ


อารี วิบูลย์พงศ์, อานัง กุนาวัน ยาห์ยา และ ทรงศักดิ์ ศรีบุญจิตต์ . ผลกระทบของรายได้นอกฟาร์มต่อการวางแผนระบบปลูกพืชยืนต้นในที่สูง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 9 : . ระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2535 ณ โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จ.ภูเก็ต.  น.361-367.

บทคัดย่อ

         การแก้ปัญหาไร่เลื่อนลอยและการชะล้างทำลายดินของโครงการพัฒนาการเกษตรในที่สูงต่าง ๆ วิธีหนึ่ง คือ ระบบเกษตรถาวรโดยเฉพาะการปลูกไม้ยืนต้นควบคู่กับการอนุรักษ์ การศึกษาความเป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจของการขยายพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นในที่สูงนี้ เป็นกรณีศึกษาของหมู่บ้านห้วยตาด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ระบบฟาร์มประกอบด้วยข้าวไร่ ข้าวโพด พร้อมแถบหญ้าและไม้ยืนต้น ได้แก่ กาแฟ ลิ้นจี่ และชา โดยมีการทำขั้นบันได ร่วมด้วย การทำงานในโรงงานชา เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของเกษตรกรที่นี่ การศึกษาความเป็นไปได้โดยการวางแผนการผลิต สำหรับระยะเวลา 20 ปี โดยใช้ Multi-period linear Programming และการวิเคราะห์ความอ่อนไหวแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ทรัพยากรที่ดินและแรงงานที่มีอยู่นั้น รายได้นอกจากฟาร์มเป็นแหล่งทุน และมีบทบาทสำคัญในการขยายพื้นที่ปลูกพืชยืนต้น เช่น ในกรณีที่ไม่มีการกำหนดพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภคในครัวเรือนนั้น เมื่ออุปสงค์ของแรงงานลดลงถึงร้อยละ 60-40 % ของกำลังแรงงานนอกฤดูการผลิตแล้ว เกษตรกรต้องการเงินกู้และข้าวจะเริ่มเข้าสู่แผนการผลิตทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน มิฉะนั้นพื้นที่ทั้งหมดจะใช้ในการปลูกพืชยืนต้น ปัญหาในด้านทรัพยากรของชาติในภาคเหนือที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ปัญหาการทำลายป่าไม้และการชะล้างทำลายดินอันเป็นผลมาจากการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งได้ปฏิบัติกันมาเป็นเวลานาน พื้นที่ซึ่งถูกถางให้เป็นที่ทำกินในที่สูง ในขณะนี้บางส่วนอยู่ภายใต้ความดูแลของหน่วยงานราชการและโดครงการพัฒนาต่าง ๆ ซึ่งพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะให้เกษตรใช้วิธีการเพราะปลูกที่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำรวมอยู่ด้วย วิธีการซึ่งเชื่อว่าได้ผลวิธีหนึ่งก็คือ การทำการเกษตรถาวรโดยเฉพาะการปลูกไม้ยืนต้นร่วมกับการทำขั้นบันไดและการทำแถบหญ้าเมื่อมีการปลูกพืชไร่ การที่เกษตรกรจะยอมรับการปลูกพืชใด ๆ นั้น เกษตรมักจะพิจารณาผลได้ว่าตรงตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของครอบครัวหรือไม่ เป้าหมายของครอบครัวนี้อาจไม่ใช่ผลตอบแทนทางการเงิน หรือรายได้เท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งอื่น ๆ ด้วยเช่น ความมั่นในในเรื่องอาหารที่จะเลี้ยงครอบครัว ความพอใจที่ได้มีงานทำตลอดปี ความพอใจที่อยู่ได้ในหมู่บ้าน ความมั่นใจที่จะไม่สูญเสียที่ทำกิน เป็นต้น สำหรับโครงการพัฒนาที่สูงต่างๆ ที่พยายามให้เกษตรกรยอมรับเทคโนโลยีการผลิต และระบบการผลิต ซึ่งรวมการอนุรักษ์ดินและน้ำไว้ด้วยนั้น การให้เกษตรกรยอมรับจะมีความลำบากมากขึ้นเมื่อผนวก วัตถุประสงค์ของเกษตรกรและโครงการพัฒนาเข้าด้วยกันเนื่องจากมีวัตถุประสงค์มากอย่างขึ้น นอกเหนือจากวัตถุประสงค์แล้ว ความเป็นไปได้ของการยอมรับยังขึ้นอยู่กับสภาพทรัพยากรที่เกษตรกรมีอยู่อีกด้วย รายงานนี้จะเสนอให้เห็นถึงปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปได้ของการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชยืนต้นของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม ซึ่งจัดตามขนาดพื้นที่ทำกินโดยการอาศัยโปรแกรมคณิตศาสตร์ในการวางแผนฟาร์มและวิเคราะห์ความไว