รายละเอียดบทคัดย่อ


สำราญ สะรุโณ และ ไพโรจน์ สุวรรณจินดา . การพัฒนาระบบเกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 11 :ระบบเกษตรกรรมเพื่อเกษตรกร สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 12-15 มีนาคม 2539 ณ โรงแรมรีเจ้นท์ ชะอำบีช รีสอร์ท อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี.  น.201-220.

บทคัดย่อ

         ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีเนื้อที่ 6.12 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ที่สำคัญของภาคใต้แหล่งหนึ่ง ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำประกอบด้วยพื้นที่ภูเขา ที่ราบลูกคลื่น ที่ราบลุ่มน้ำ ที่ราบชายฝั่งและพื้นที่ลำน้ำ ซึ่งมีผลทำให้ลักษณะนิเวศน์เกษตรเอื้ออำนวยต่อการผลิตที่หลายหลายทั้งทางด้านป่าไม้ ยางพารา ไม้ผล ไม้ยืนต้น ข้าว พืชผัก พืชไร่ การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมง และทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายด้านด้วยกัน ในส่วนของการเกษตร เกษตรกรมีการจัดระบบเกษตรกรรมตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และการตั้งถิ่นฐานซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มตามกิจกรรมหลักได้ คือ กลุ่มยาง-ไม้ผล-ข้าว, กลุ่มข้าวอย่างเดียว, กลุ่มข้าว-พืชอื่น และ กลุ่มข้าว-ประมง โดยมีกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นกิจกรรมเสริม อย่างไรก็ตามกลุ่มข้าว-ประมงซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ติดทะเลสาบเป็นกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำค่อนข้างสูงเพราะระบบเกษตรกรรมมักมีปัญหาในการผลิตมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นที่ราบริมทะเลสาบที่น้ำท่วมถึง เกษตรกรจึงต้องมีการพัฒนาและจัดระบบเกษตรกรรมให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปัญหาของระบบ โดยจัดกิจกรรมให้มีทางเลือกหลากหลายชนิดขึ้น ทั้งนี้ได้พยายามรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผลิตภัณฑ์ในลำน้ำทะเลสาบไว้ เพื่อเป็นแหล่งพึ่งพารายได้และดำรงไว้ซึ่งชุมชนโดยการไม่อพยพแรงงานไปสู่อุตสาหกรรมและภาคอื่น