รายละเอียดบทคัดย่อ


ชลวุฒิ ละเอียด และ ก้อนทอง พวงประโค . งานวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตข้าวโพดในไร่เกษตรกรจังหวัดนครสวรรค์.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 1 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2543 ณ โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น หลักสี่ กรุงเทพฯ.  น.121-134.

บทคัดย่อ

         งานวิจัยข้าวโพดในไร่เกษตรกร (Maize On-Farm Research-OFR) เป็นวิธีการวิจัยและพัฒนาในไร่นา ตามแนวทางของงานวิจัยระบบการทำฟาร์ม (Farming Systems Research – FSR) แต่ยึดพืชเป็นหลัก วิธีการวิจัยนี้พัฒนาโดย ศูนย์วิจัยการปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (International Maize and Wheat Improvement Center - CIMMYT) และนำมาใช้ในกรมวิชาการเกษตร ในช่วงปี พ.ศ. 2528-2532 ภายใต้โครงการการวิจัยและพัฒนาการผลิตข้าวโพดในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์วิจัยการปรับปรุงข้าวโพดและข้าวสาลีนานาชาติ (CIMMYT) วิธีการการวิจัยนี้ แบ่งเป็น 5 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1) การวินิจฉัยปัญหา (diagnosis) 2) การวางแผน (planning) 3) การทดลอง (experimentation) 4) การประเมินผล (Assessment) และ 5) การแนะนำเผยแพร่ (Recommendation) ข้อเด่นของวิธีการวิจัย OFR ตามวิธีของ CIMMYT คือ การผสมผสานระหว่างการวิจัยพืช (Commodity) และการวิจัยเฉพาะพื้นที่ (Area approach) โดยการมองปัญหาของเกษตรกรทั้งระบบ และมีการดำเนินงานในรูปของสหสาขาวิชาเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและประเมินผลด้านต่าง ๆ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรกร มีโอกาสร่วมดำเนินงานในหลายขั้นตอน ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการคัดเลือกปัญหาเพื่อทำการวิจัย และนำผลไปพัฒนาทดสอบในพื้นที่จริงได้อย่างต่อเนื่อง แม้วิธีการนี้จะมีข้อเด่นดังกล่าวข้างต้น แต่เมื่อโครงการสิ้นสุดลงก็ไม่ได้มีการนำมาใช้อีก เพราะมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ต้องใช้ทีมงานขนาดใหญ่จากต่างสถาบัน จึงขัดกับนิสัยการทำงานอย่างอิสระของนักวิชาการไทย นอกจากนี้ยังมีบางขั้นตอนที่ต้องทำ แต่อาจไม่สามารถตั้งงบประมาณในระบบการวิจัยเฉพาะพืชของไทยได้ เช่น การสำรวจต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม วิธีการของ OFR อาจปรับปรุงให้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้ โดย 1) ลดขั้นตอนและความซับซ้อนในการวินิจฉัยปัญหา โดยใช้ฐานข้อมูล ต่าง ๆ จากระบบสารสนเทศ 2) ใช้การประสานงานระหว่างสาขาวิชา แทนการสร้างทีมขนาดใหญ่ และ 3) เน้นการร่วมงานกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยใช้แกนทำงานระดับพื้นที่เพียง 1-2 คน จากหน่วยวิจัยและส่งเสริม เช่น สถานีทดลองพืชและศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล และขอการสนับสนุนด้านบุคลากร จากหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในบางโอกาส