รายละเอียดบทคัดย่อ


วีรพล เพชรอาวุธ และ คณะ . การผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรบ้านกุดหิน และบ้านโดนเลงใต้มุ่งสู่ระบบเกษตรยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 2 :ระบบเกษตรเพื่อการจัดการทรัพยากรและพัฒนาชนบทเชิงบูรณาการ . ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2545  ณ โรงแรมโฆษะ จ. ขอนแก่น.  น.334-337.

บทคัดย่อ

         เกษตรกรบ้านกุดหิน ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร และเกษตรกรบ้านโดนเลงใต้ ตำบลทมอ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ มีอาชีพทำนาข้าวเป็นหลักโดยใช้น้ำฝน ในอดีตการปลูกข้าวของเกษตรกรทั้งพื้นที่จะใช้วิธีการปฏิบัติตามแบบการปลูกข้าวของเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วๆไปคือไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจนกระทั่งเข้าสู่ยุคปฏิวัติเขียวเกษตรกรทั้งพื้นที่หันมาปลูกข้าวโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นปัจจัยการผลิต ผลจากการใช้ระบบการผลิตที่ใช้ปัจจัยเคมีเป็นหลักมีผลกระทบกับสภาพแวดล้อมดิน น้ำ ผลผลิตปนเปื้อน เกษตรกรต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกเป็นหลักและมีผลกระทบกับสุขภาพของเกษตรกร ปี 2543 เกษตรกรบ้านโดนเลงใต้ จำนวน 20 ราย และปี 2538 เกาตรกรบ้านกุดหิน จำนวน 4 ราย ได้ปรับระบบการผลิตข้าวจากการใช้ปัจจัยเคมีไปใช้ปัจจัยอินทรีย์ เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยคอก จนปัจจุบันมีเกษตรกรทั้ง 2 พื้นที่เป้าหมายรวมประมาณ 300 ครอบครัว เน้นการใช้ปัจจัยอินทรีย์เป็นปัจจัยการผลิตข้าวทั้งที่เป็นข้าวปลอดสารพิษและข้าวอินทรีย์ อย่างไรก็ตาม ในการผลิตข้าวอินทรีย์นั้น ถ้าหากเกษตรกรต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก จะต้องลงทุนสูงซึ่งนำไปสู่ความไม่ยั่งยืนของระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ ด้วยความร่วมมือขององค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน และตัวเกษตรกรเอง ทำให้เกษตรกรมีแนวทางการผลิตข้าวอินทรีย์แบบยั่งยืนในปัจจุบัน การผลิตข้าวอินทรีย์แบบยั่งยืนของเกษตรกรทั้ง 2 พื้นที่เป้าหมายมีข้อกำหนดบางประการ เช่น 1) บุคลากรในครัวเรือนต้องยอมรับที่จะดำเนินระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ เนื่องจากระบบการผลิตข้าวอินทรีย์อาจจะต้องลงทุนสูงในปีแรกขณะที่ผลตอบแทนต่ำ 2) ต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนระบบการผลิตในลักษณะของหารลด ละ เลิกการ้ปัจจัยเคมี และขนาดพื้นที่ดำเนินการก็จะทยอยปรับเปลี่ยน 3) ปัจจัยการผลิตสำหรับใช้ปรับปรุงดินควรเป็นปัจจัยที่หาได้เอง หรือถ้าหากจำเป็นต้องซื้อบ้างก็ไม่ควรเป็นปัจจัยที่มีราคาแพง หรืออาจจะผลิตเอง เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน เก็ยเมล็ดหมุนเวียนปลูกในฤดูกาลต่อไป 4) เกษตรกรควรจัดทำแปลงข้าวนาพันธุ์ใช้เองเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ ไม่ปนเปื้อนและต้นทุนต่ำ 5) ควรมีการจัดการตลาดข้าวอินทรีย์ ทั้งการจัดหาตลาดและราคาเหมาะสม 6) ควรรวมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อราคาเหมาะสม 6) ควรรวมกลุ่มผู้ผลิตเพื่อให้เกิดความสะดวกกับการแปรรูปและจำหน่ายผลผลิต และ 7) ต้องมีการเพิ่มความหลาหลายทางชีวภาพให้กับไร่นา ทั้งด้านพืชที่เป็นอาหารอื่นๆ และสำหรับใช้สอย รวมทั้งเป้นยารักษาโรค ด้านปศุสัตว์เพื่อให้มีอาหารโปรตีนจำหน่ายเป็นรายได้และเป็นแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ ด้านสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีน อย่างไรก็ตามเกษตรกรทั้ง 2 กลุ่ม ส่วนมากยังคงอยู่ในระดับการผลิตข้าวอินทรีย์และเพิ่มความหลากหลายด้านพืชหลังนาหรือก่อนนาส่วนระบบไร่นาสวนผสมอินทรีย์ ซึ่งมีทั้งการผลิตข้าวอินทรีย์ การเพิ่มความหลากหลายอื่นๆ ด้านพืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ยังดำเนินการค่อนข้างน้อย แต่มีแนวโน้มการเพิ่มของเกษตรกรสู่ระบบเกษตรผสมผสานอินทรีย์ในอนาคต คาดว่าในระยะ 5-10 ปี ข้างหน้าเกษตรกรท้ง 2 หมู่บ้าน จะใช้ระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ การพึ่งตนเองและการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง จะนไปสู่ระบบเกษตรยั่งยืนสืบไป