รายละเอียดบทคัดย่อ


วริษา สินทวีวรกุล, นนทกรณ์ อุรโสณ, วรวิทย์ ธนสุนทรสุทธิ และ ณรงค์ สามารถ . ระบบการผลิตโคพื้นเมืองของเกษตรกรตามบริเวณชายแดนแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.45-52.

บทคัดย่อ

         โคพื้นเมืองที่เลี้ยงตามบริเวณชายแดนแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโคที่มีขนาดเล็ก ตัวเมียโต เต็มที่หนักประมาณ 300 กิโลกรัม ตัวผู้ประมาณ 400 กิโลกรัม ส่วนใหญ่มีสีแดง หน้ายาว บอบบาง หน้าผากแคบ ตา ขนาดปานกลาง ขนหน้าสั้นเกรียน จมูกแคบ ใบหูแหลม มีเขาสั้นถึงยาวปานกลาง ตัวเมียมักมีเข้าสั้นหรือไม่มีเขา ลำคอบอบบางค่อนข้างยาว มีเหนียงใต้คอ กระดูกขาบอบบางค่อนข้างยาว ลำตัวดูป่องตรงกลางเมื่อมองจาก ด้านบน เกษตรกรเลี้ยงโคเป็นอาชีพรองนอกเหนือจากอาชีพหลักคือการทำนา รูปแบบการเลี้ยงและการจัดการโค พื้นเมืองของเกษตรกรในพื้นที่ตามบริเวณชายแดนแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานีสามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ คือ 1. เลี้ยงแบบเช้าไปเย็นกลับ จะพบในเกษตรกรบางรายที่มีโคจำนวนไม่มากมีเพียง 2-3 ตัว 2. การเลี้ยงโคพื้นเมือง แบบปล่อยในพื้นที่ป่าเขาตลอดช่วงฤดูการทำนา เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จจึงทำการต้อนโคลงจากเขามาไว้ในพื้นที่ ราบ และ 3. เลี้ยงไว้ในพื้นที่ป่าเขาตลอดทั้งปี โคที่เลี้ยงอยู่บนเขาจะนอนบริเวณพื้นหินเรียบ โล่ง อาหารที่โคกินใน ธรรมชาติมีมากมาย ได้แก่ หญ้าเพ็ก บุก หญ้าเล็กหญ้าน้อย เป็นต้น ในช่วงที่อยู่บนเขาเกษตรกรมีการเสริมเกลือ ให้กับโคของตน เกลือที่ใช้คือเกลือสินเธาว์ แหล่งน้ำดื่มโคเมื่ออยู่บนเขาจะมีแหล่งน้ำดื่มตามธรรมชาติได้แก่ ห้วยตาม ธรรมชาติ และคลองเล็ก ๆ เมื่อพ้นฤดูทำนา อาหารที่โคได้รับในช่วงตลอดหลังการเก็บเกี่ยวคือฟางข้าว และหญ้าตาม ทุ่งนาของเกษตรกร บางรายอาจมีการตัดหญ้าเสริมให้กับโคของตน แหล่งน้ำสำหรับโคเมื่อลงมาอยู่ในหมู่บ้านโคจะ กินน้ำในห้วยในนา เกษตรกรบางรายจะตักน้ำบ่อให้กิน โคที่เลี้ยงไว้ตามที่นา มูลโคที่ได้จะเป็นปุ๋ยสำหรับการทำนาใน ครั้งต่อไป โคพื้นเมืองมีการผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ เนื่องจากลักษณะการเลี้ยงที่มีการปล่อยรวมกันเป็นฝูง โดยใช้โคพ่อพันธุ์ที่มีในฝูงของตนเอง หรือพ่อพันธุ์โคพื้นเมืองของเพื่อนบ้าน โคพื้นเมืองมีการคลอดเองตามธรรมชาติ ไม่มีการช่วยคลอด ลูกโคที่เกิดมาส่วนใหญ่มีสภาพปกติ แข็งแรง เกษตรกรไม่มีการแยกแม่โคใกล้คลอดและแม่โคที่ คลอดแล้วออกจากฝูง เลี้ยงรวมกันเป็นฝูงใหญ่ เกษตรกรนิยมซื้อโคตัวเมียเพื่อไว้ขยายพันธุ์ การซื้อโคจะซื้อกับ เกษตรกรในกลุ่มด้วยกันเอง หรือจากตลาดนัดโคกระบือ การขายโคของเกษตรกรมีหลายเหตุผลด้วยกัน เช่น เมื่อมี ความจำเป็นต้องใช้เงินหรือมีโคในฝูงเป็นจำนวนมากเกินไป แหล่งที่เกษตรกรขายโคคือพ่อค้าในท้องถิ่น และต่างถิ่น ตลาดนัดโค-กระบือโค บางครั้งขายให้ญาติพี่น้องเพื่อนำไปเลี้ยง หรือนำไปชำแหละ ราคาซื้อขายเกษตรกรเป็นผู้ กำหนด ถ้าราคาเป็นที่ตกลงของทั้งพ่อค้าและเกษตรกรผู้ขาย เกษตรกรจึงจะจำหน่ายโคให้ไป ปัญหาหลักของการ เลี้ยงโคพื้นเมืองของเกษตรกรตามบริเวณพื้นที่ป่าเขาแถบชายแดนแม่น้ำโขงของจังหวัดอุบลราชธานี คือพื้นที่ที่ใช้ใน การเลี้ยงเนื่องจากพื้นที่บางส่วนที่ใช้เลี้ยงโคเป็นพื้นที่ของเขตอุทยานที่ทับซ้อนกับที่ป่าชุมชนของเกษตรกร