รายละเอียดบทคัดย่อ


บัญชา สมบูรณ์สุข, ปริญญา เฉิดโฉม, ปรัตถ พรหมมี และ รจเรข หนูสังข์  . การปรับตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกรชาวสวนยางในระบบการ ทำฟาร์มสวนยางขนาดเล็กเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.95-109.

บทคัดย่อ

         ระบบการทำฟาร์มสวนยางขนาดเล็กเป็นระบบที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจครัวเรือนของเกษตรกรชาวสวนยางพาราในภาคใต้มาช้านาน เนื่องจากลักษณะฟาร์มสวนยางส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็ก (ร้อยละ 93.1 ของฟาร์มสวนยางทั้งหมดในภาคใต้) ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบของระบบการทำฟาร์มสวนยางขนาดเล็กมีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น เกษตรกรได้พยายามปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการทำสวนยางพาราร่วมกับกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ จากการศึกษาสามารถจำแนกรูปแบบของระบบการทำฟาร์มสวนยางขนาดเล็กที่พบในปัจจุบันของภาคใต้ 6 รูปแบบ ได้แก่ (1) ระบบการทำฟาร์มสวนยางเชิงเดี่ยว (21.1%) (2) ระบบการทำฟาร์มสวนยางร่วมกับปลูกพืชแซม (26.4%) (3) ระบบการทำฟาร์มสวนยางที่มีการปลูกข้าว (33.7%) (4) ระบบการทำฟาร์มสวนยางที่มีไม้ผลร่วม (11.1%) (5) ระบบการทำฟาร์มสวนยางร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ (1.9%) และ (6) ระบบการทำฟาร์มสวนยางร่วมกับกิจกรรมการเกษตรผสมผสาน (5.8%) ในการวิเคราะห์ระบบการทำฟาร์มสวนยางขนาดเล็ก มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการหาคำตอบเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของครัวเรือนเกษตรกร โดยใช้วิธีการเชิงระบบ (system approach) ได้แก่ การวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ของฟาร์ม เพื่อทราบถึงประสิทธิภาพ ศักยภาพความสามารถ และความคุ้มทุนของฟาร์ม การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสำเร็จในการดำเนินงานของฟาร์มและการวิเคราะห์ความยั่งยืนของระบบการทำฟาร์มสวนยางขนาดเล็ก ซึ่งการวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้นนำมาสู่การสังเคราะห์รูปแบบการปรับตัวทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมของเกษตรกรชาวสวนยางขนาดเล็กได้ซึ่งประกอบด้วย 3 ระบบย่อยที่เชื่อมโยงกัน คือ (1) การปรับตัวขององค์ประกอบในการผลิตของฟาร์ม ได้แก่ องค์ประกอบทางกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจและสังคม (2) ระบบสนับสนุนและเสนอแนะแนวนโยบายและแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมของฟาร์ม และ (3) ระบบการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เป็นเงื่อนไข