รายละเอียดบทคัดย่อ


ประสงค์ วงศ์ชนะภัย, อุดม วงศ์ชนะภัย และพูลสวัสดิ์ อาจละกะ . การขยายผลโดยใช้น้ำหมักชีวภาพในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ภาคตะวันออก กรณีศึกษาจังหวัดสระแก้ว.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.119-134.

บทคัดย่อ

         น้ำสกัดชีวภาพ หรือน้ำหมักชีวภาพ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เกิดจากเกษตรกรนำเศษพืช สัตว์ ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นไปหมักกับกากน้ำตาล และนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายซึ่งแต่ละท้องถิ่นมีการผลิตและการใช้แตกต่างกัน ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ กรรมวิธีในการผลิต ตลอดจนวิธีการใช้กับพืช อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำสกัดชีวภาพที่เกษตรกรผลิตและใช้โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 - 8 กรมวิชาการเกษตร ของสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร พบว่า น้ำสกัดชีวภาพจากพืชผักและผลไม้ จะพบธาตุอาหาร N 0.05-1.65 %, P2O5 0.01-0.59 %, K2O 0.02-1.89 %, Ca 0.08-0.95 %, Mg 0.001-0.22 %, S 0.006-0.58 % พบธาตุอาหารเสริมได้แก่ Fe, Mn, Cu, Zn, B และCl ในปริมาณน้อยแต่พบเกือบครบทุกธาตุ นอกจากนี้ ยังพบฮอร์โมนพืช (plant hormones) ได้แก่ ออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโทไคนิน น้ำสกัดชีวภาพจากสมุนไพรจะพบสารออกฤทธิ์กลุ่มแอลกอฮอล์ เบนซีนไดออล ฟีนอล และเอสเทอร์ ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการไล่แมลง ฆ่าแมลง ส่วนน้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ (ปลา หอย ไข่ ) จะพบธาตุอาหาร N 0.28-2.00 %, P2O5 %, K2O 0.04-1.72 %, Ca 0.03-2.26 %, Mg 0.01-0.84 %, S 0.01-0.35 % และพบธาตุอาหารเสริมได้แก่ Fe, Mn, Cu, Zn, B และCl ในปริมาณน้อยแต่เกือบครบทุกธาตุ ส่วนฮอร์โมน พบแต่มีปริมาณน้อยกว่าที่พบในน้ำสกัดชีวภาพจากพืช จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า แม้ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม ตลอดจนสารควบคุมการเจริญเติบโตพืช จะพบจากในน้ำสกัดชีวภาพในปริมาณน้อย แต่จากการที่เกษตรกรสามารถผลิตได้เอง ลงทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงทำให้เกิดการขยายผลและใช้กันอย่างแพร่หลาย สระแก้วเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการใช้น้ำสกัดชีวภาพอย่างแพร่หลาย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหนึ่งมาจากปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมีและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับยุทธศาสตร์ด้านการเกษตรของจังหวัดสระแก้ว ระหว่างปี 2547-2551 มีคำขวัญว่า “เกษตรอินทรีย์ วิถีสระแก้ว” จากการสำรวจ พบว่า น้ำสกัดชีวภาพที่เกษตรกรใช้ในจังหวัดสระแก้ว แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ น้ำสกัดชีวภาพจากพืช ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล และสมุนไพร กับน้ำสกัดชีวภาพจากสัตว์ โดยน้ำสกัดชีวภาพทั้ง 2 ประเภทนี้ เกษตรกรนำไปใช้ร่วมกับปุ๋ยหมัก ในการผลิตพืชผัก ข้าว พืชสมุนไพร (ข่า ตะไคร้ หญ้าปักกิ่ง เสลดพังพอน ฯลฯ) ส่วนในไม้ผลมีการใช้บ้าง แต่เป็นส่วนน้อย กลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้น้ำสกัดชีวภาพกันมาก ได้แก่ 1. กลุ่มสหกรณ์เกษตรธรรมชาติสระแก้วจำกัด ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าเกวียน แซร์ออ ช่องกุ่ม วัฒนานคร โนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร ตำบลทับพริกและตำบลผ่านศึก อำเภออรัญประเทศ โดยทางกลุ่มสหกรณ์เกษตรธรรมชาติสระแก้วจำกัด ใช้น้ำสกัดชีวภาพร่วมกับปุ๋ยหมัก ในการผลิตพืชผัก ข้าวเพื่อส่งให้แก่บริษัทเลมอนฟาร์ม ผลิตพืชสมุนไพรเพื่อส่งโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จังหวัดปราจีนบุรี 2. กลุ่มเกษตรกรตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา ใช้น้ำสกัดชีวภาพร่วมกับปุ๋ยคอก และปุ๋ยหมัก ในการปลูกข้าวและพืชผัก 3. กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ให้แก่บริษัทสวีฟท์ (Swift Co., Ltd.) เพื่อส่งจำหน่ายประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรโครงการทับทิมสยาม 02 และ 05 ตำบลคลองไก่เถื่อน อำเภอคลองหาด กลุ่มเกษตรกรบ้านคลองหว้าและกลุ่มเกษตรกรบ้านทับพริก ตำบลทับพริก อำเภออรัญประเทศ กลุ่มเกษตรกรบ้านโนนสาวเอ้ ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น กลุ่มเกษตรกรตำบลพระเพลิงและตำบลหนองหว้า อำเภอเขาฉกรรจ์ และกลุ่มเกษตรกรบ้านวังสุริยา ตำบลวังสมบูรณ์ กิ่งอำเภอวังสมบูรณ์