รายละเอียดบทคัดย่อ


นันทิยา หุตานุวัตร และณรงค์ หุตานุวัตร . กระบวนทัศน์เกษตรกรรมยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.164-180.

บทคัดย่อ

         การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณและวิธีคุณภาพและการวิจัยเชิงปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมายการศึกษาประกอบด้วยเกษตรกรที่ปรับสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จำนวน 32 คน ในอำเภอกุดชุมอำเภอเมือง และอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนมิถุนายน 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ ศึกษากระบวนทัศน์ของเกษตรกรที่ปรับตัวเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีผลการศึกษากระบวนทัศน์เกษตรกรรมยั่งยืน ดังนี้ การศึกษากระบวนทัศน์เกษตรกรรมยั่งยืนศึกษาในเรื่องความเชื่อและกระบวนคิดในเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต และเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับวิถีการผลิตรวมทั้งความเชื่อและกระบวนคิด ในกระบวนการก่อเกิดความเชื่อและกระบวนคิดนั้นจะต้องมีการทดลองปฏิบัติทางการผลิต และปรับการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับวิถีการผลิตไปพร้อมๆ กัน ในลักษณะเช่นนี้จะเกิดซ้ำจนกระทั่งมีความเชื่อและกระบวนคิดที่แน่นอน มีรูปแบบและกิจกรรมเกษตรยั่งยืนอย่างเห็นได้ชัด และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ความเชื่อและกระบวนคิดแบบเกษตรกรรมยั่งยืน พบว่าเกษตรกรมีความเชื่อและกระบวนคิดในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 5 ประการ คือ 1) ความเชื่อและกระบวนคิดทวนกระแสกับการเกษตรกระแสหลักและเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม 2) ความเชื่อและกระบวนคิดในความอุดมสมบรูณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศน์แปลงนา 3) ความเชื่อและกระบวนคิดในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ โดยการลดรายจ่ายซึ่งจะเป็นเรื่องเน้นหนักในช่วงเริ่มต้นของการทำเกษตรกรรมยั่งยืน การเพิ่มรายได้จะตามมาเมื่อการผลิตในแปลงมีความหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์ ส่วนการออมจะเป็นช่วงผลผลิตเต็มที่ของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 4) ความเชื่อและกระบวนคิดในการมีสุขภาพกายและใจที่ดี การทำเกษตรกรรมยั่งยืนทำให้เขามีความหวังในอาชีพและความเป็นอยู่ของตน ซึ่งส่งผลให้เขามีสุขภาพจิตที่ดีกว่าการทำเกษตรกระแสหลัก 5) ความเชื่อและกระบวนคิดในการสร้างเป็นบำนาญยามแก่เฒ่าและเป็นมรดกแก่ลูกหลาน ทำให้เกษตรกรมีความหวังและมีเป้าหมายระยะไกล เกิดความมุมานะและมีกำลังใจที่ปรับสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ความเชื่อและกระบวนคิด 5 ประการนี้เป็นสิ่งที่กำหนดการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต 3 ประการ คือ 1) การปรับโครงสร้างทางการผลิตให้เหมาะสมกับเกษตรกรรมยั่งยืน 2) การลด/เลิกการใช้สารเคมีทั้งปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์และการใช้น้ำหมักชีวภาพและสมุนไพรในการกำจัดหรือไล่ศัตรูพืช 3) การปรับการผลิตจากการผลิตเชิงเดี่ยวเป็นการผลิตหลากหลายและเกื้อกูล ในขณะที่มีการปรับวิถีการผลิต เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้มีความสอดคล้องกับวิถีการผลิตใน 5 ประการ คือ 1) มีการซื้อกินน้อยลง มีอาหารการกินในแปลงของตนเองเพิ่มขึ้น ทั้งมีความรู้สึกชีวิตปลอดภัย เพราะไม่ต้องเสี่ยงภัยต่อสารพิษ 2) มีความขยันและใช้เวลาอยู่กับแปลงไร่นามากขึ้น เพราะมีงานทำในแปลงตลอดวัน 3) มีความเอื้อเฟื้อต่อญาติมิตร เป็นเสมือนวิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยแลกเปลี่ยนสิ่งของระหว่างกัน ความเอื้อเฟื้อดังเช่นอดีตที่ค่อยฟื้นกลับมา และยังเป็นการยืนยันถึงความมีอยู่มีกินของวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมยั่งยืนอีกด้วย 4) มีจิตใจสงบและมีความสุขในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวได้ทำกิจกรรมในแปลงไร่นาร่วมกัน มีเวลาพูดคุยกัน 5) มีเพื่อนมีชุมชน การมีกระบวนทัศน์ชุดเดียวกันก่อให้เกิดเป็น “ชุมชนเสมือน (virtual community)” ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดโดยเขตการปกครองและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ แต่เป็นชุมชนที่รวมตัวกันด้วยความเชื่อและวิถีชีวิตเดียวกัน