รายละเอียดบทคัดย่อ


สมบัติ ตงเต๊าะ, ละเอียด ปั้นสุข, สำเริง ช่างประเสริฐ และภควรรณ ชัยรัตน์เมธี . การใช้เวทีชาวบ้านเพื่อสร้างแผนชุมชนและพัฒนาเครือข่ายเกษตรยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.191-206.

บทคัดย่อ

         การใช้เวทีชาวบ้านเป็นเครื่องมือให้เกษตรกร มีส่วนร่วมในการคิด ทำ สรุปผลจากการกระทำ และรับผลจากการกระทำ เป็นแนวทางที่องค์กรพัฒนาเอกชนนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ในส่วนขององค์กรภาครัฐในกรณีการวิจัยและพัฒนาการเกษตร และการจัดทำแผนชุมชนในด้านการเกษตร กระบวนการดำเนินงานยังคงยึดติดกับการใช้แบบสอบถามสัมภาษณ์เกษตรกร และการให้เกษตรกรมาร่วมประชุมซักถามประเด็นปัญหาเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินงาน แม้ว่าในระยะหลังการจัดการประชุมจะเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วม แต่รูปแบบของการประชุมมักเป็นทางการ และมักพบว่าผู้รับผิดชอบการประชุมยังยึดวัตถุประสงค์ และเป้าหมายขององค์กรหรือตนเองเป็นหลัก การมีส่วนร่วมของเกษตรกรจึงเกิดขึ้นน้อย และเกษตรกรมักมองว่าแผนงานหรือโครงการที่เกิดขึ้นเป็นของภาครัฐ ไม่ใช่ของเกษตรกร เมื่อแปลผลการวิจัยและพัฒนา และการจัดทำแผนชุมชนไปสู่การปฏิบัติจึงมักไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้เริ่มดำเนินการวิจัยและพัฒนาและจัดทำแผนชุมชน โดยใช้เวทีชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการดำเนินงาน ระหว่าง ปี พ.ศ. 2542-2545 ภายใต้โครงการพัฒนาเกษตรยั่งยืน กรมวิชาการเกษตร (SADP-DANCED) ซึ่งพบว่าประสบผลสำเร็จด้วยดี สามารถสร้างเครือข่ายเกษตรยั่งยืน สร้างแผนชุมชนที่พร้อมนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง และสร้างวิทยากรเกษตรกรจำนวนมาก จากผลสำเร็จดังกล่าว สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ได้ใช้เวทีชาวบ้านเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาระบบเกษตรกรรมในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา ภายใต้งบประมาณปกติ และดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม กรมวิชาการเกษตร (SAFE-DANIDA) ในปี พ.ศ. 2547 จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า การเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วม ภายใต้การจัดเวทีในทุกขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา มีผลทำให้กระบวนการวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพชัดเจน และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นปฏิบัติได้ง่ายและสามารถขยายผลไปสู่เกษตรกรได้อย่างกว้างขวาง กระบวนการจัดเวทีที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานมีหลักสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ต้องให้เกษตรกรที่มาร่วมเวทีเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและเรียนรู้ อย่างแท้จริงโดยเจ้าหน้าที่เป็นเพียงผู้เอื้อให้เกษตรกรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากที่สุดเท่านั้น ประการที่ 2 ต้องมีการจัดเวทีอย่างสม่ำเสมอหรือต้องจัดเวทีทุกครั้งที่มีประเด็นสำคัญที่ต้องให้เกษตรกรร่วมกันคิดวิเคราะห์และตัดสินใจร่วมกัน ประการที่ 3 ต้องร่วมกันวางแผนงาน กำหนดเป้าหมาย และผลงานที่จะได้รับก่อนการจัดเวทีอย่างชัดเจน และประการที่ 4 ทุกครั้งก่อนปิดเวทีจะต้องมีการสรุปผล ย้ำเตือนให้เกษตรกรเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางการปฏิบัติหรือข้อเสนอแนะที่ได้จากเวที กรณีเวทีเครือข่ายซึ่งมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรหลายๆ กลุ่มเป็นสมาชิกจะต้องย้ำให้ตัวแทนกลุ่มกลับไปชี้แจงให้สมาชิกกลุ่มทราบข่าวสาร หรือองค์ความรู้ที่ได้จากเวทีทุกครั้ง กระบวนการจัดเวทีที่ดีและมีประสิทธิภาพยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่ประสานงานหรือเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้เวทีด้วยเช่นกัน โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีแนวคิดว่า เกษตรกรขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ และเกียจคร้าน ไม่ยอมรับหรือปฏิบัติตามเทคโนโลยีที่เกิดจากการวิจัย หรือความรู้พื้นฐานของเจ้าหน้าที่ แนวคิดที่กล่าวมามีผลทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับผิดชอบงานวิจัยและพัฒนาการเกษตรส่วนใหญ่มองข้ามหรือปฏิเสธภูมิปัญญาของเกษตรกรซึ่งเป็นผู้รู้จริงและปฏิบัติจริงในพื้นที่ จึงมักพบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐจะชี้นำหรือสรุปผลตามแนวคิดหรือองค์ความของตัวเองเป็นหลัก การปรับเปลี่ยนแนวความคิดในส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนที่จะทำหน้าที่ประสานงานในการจัดเวทีให้เข้าใจหลักการ และกระบวนการดำเนินงานที่ถูกต้องจึงนับว่ามีความสำคัญที่จะสนับสนุนให้กระบวนการจัดเวที ประสบผลสำเร็จ รายละเอียด ขั้นตอน กระบวนการ และผลที่ได้จากการดำเนินงาน โดยใช้เวทีชาวบ้านเป็นเครื่องมือ ในการสร้างแผนชุมชนและเครือข่ายเกษตรยั่งยืน ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 ใช้ดำเนินงาน ได้แสดงรวมอยู่ในเนื้อหาเรื่องเต็มแล้ว