รายละเอียดบทคัดย่อ


พีระชัย กุลชัย และปัญญา หมั่นเก็บ . การพัฒนากระบวนการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ภูมินิเวศน์ฉะเชิงเทรา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.207-216.

บทคัดย่อ

         การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ของเกษตรกรรายย่อยภูมินิเวศน์ฉะเชิงเทรา ตามโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย ปี 2544-2546 วิธีการศึกษาโดยศึกษาจากเอกสาร และการศึกษาเชิงคุณภาพหลายๆ เทคนิคร่วมกัน เช่น การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลการวิจัยพบว่า ภาพรวมของกระบวนการเรียนรู้ของโครงการนำร่องฯ มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งหมด 425 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 6,013 คน โดยเฉลี่ยมีการจัดกิจกรรม 16 ครั้งต่อเดือน และมีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมเฉลี่ย 14 คน/ครั้ง การสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของโครงการนำร่องฯ ภูมินิเวศน์ฉะเชิงเทราคือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้มีความเชื่อมั่นในแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตจากระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวมาเป็นเกษตรกรรมยั่งยืนที่เน้นการพัฒนาระบบนิเวศแบบองค์รวม เพื่อนำไปสู่การพึ่งตนเอง ลดการพึ่งพิงปัจจัยภายนอก สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารภายในครอบครัวและชุมชน กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากการอบรมและปรับแนวคิดในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านเทคนิควิธีการต่างๆ ในการทำเกษตรกรรมยั่งยืน การศึกษาดูงาน การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกชุมชน การวิจัยและพัฒนาแบบมีส่วนร่วม และการประเมินผลแบบมีส่วนร่วมของมวลสมาชิก ต่อมาได้สร้างและพัฒนาเกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จให้เป็นเกษตรกรต้นแบบในฐานการผลิตต่างๆ จนสามารถเป็นวิทยากรชุมชน และพัฒนาเป็นโรงเรียนเกษตรกรเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้เกษตรกรรมยั่งยืนในชุมชน ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ คือ ปัจจัยภายนอก ได้แก่การเผยแพร่แนวคิดในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ความร่วมมือและการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก ส่วนปัจจัยภายใน ได้แก่ ความตระหนักในปัญหาของสมาชิก การมีผู้นำที่มีความสามารถในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่ม การจัดกิจกรรมในรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา ตลอดจนความสามารถในการเชื่อมประสานกับองค์กร/เครือข่าย โดยเน้นการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการพึ่งตนเอง