รายละเอียดบทคัดย่อ


สุวรรณ หาญวิริยะพันธุ์, พงศ์พันธุ์ จึงอยู่สุข และ ชวนชื่น เดี่ยววิไล . แนวคิด GAP และการนำไปใช้จริงเพื่อพัฒนาระบบเกษตรยั่งยืน : กรณีศึกษาระบบการจัดการคุณภาพลำไยเพื่อการส่งออกของจังหวัดเชียงใหม่ - ลำพูน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.217-224.

บทคัดย่อ

         ลำไยเป็นผลไม้ส่งออกระดับ product champion ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี การผลิตลำไยในอนาคตอันใกล้นี้ จำเป็นต้องเป็นการผลิตเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) เนื่องจากสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเท่านั้น จึงจะสามารถแข่งขันและจำหน่ายได้ราคาสูงในตลาด ดังนั้น กรมวิชาการเกษตรจึงมีนโยบายให้มีการผลิตลำไยที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีระบบจัดการคุณภาพลำไยแบบครบวงจร โดยในปี 2546/47 ได้มีการตรวจสถานที่จำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนพบว่ามีร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำนวน 412 ร้าน เจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจยึดวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (methamidophos) มาได้ 2,729 ลิตร ซึ่งเป็นสารที่ห้ามมีไว้ในความครอบครอง และห้ามใช้ในการผลิตลำไยโดยเด็ดขาด ถ้าหากตรวจวิเคราะห์พบสารดังกล่าวในลำไยสดและลำไยแห้ง กรมวิชาการเกษตรจะระงับการส่งออก ดังนั้น การผลิตลำไยดีที่เหมาะสม (GAP ลำไย) จึงมีความจำเป็นที่เกษตรกรควรปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร การผลิต GAP ลำไย มีผู้ตรวจรับรอง (inspector) GAP อาสา (adviser) และเกษตรกร โดยมีสัดส่วน 1:25:(25x50) ในปี 2546/47 ในเขตจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีการจดทะเบียนเกษตรกร GAP ลำไย รวม 35,068 ราย 44,300 แปลง และได้เสนอให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณาให้การรับรอง 16,500 แปลง นอกจากการผลิต GAP ลำไยที่ได้มาตรฐานแล้ว ในกรณีส่งออกลำไยสดไปต่างประเทศ ต้องผ่านกระบวนการโรงรม SO2 ที่ได้มาตรฐานด้วย ลำไยสดที่ผ่านการรม SO2 แล้วต้องไม่ให้มีสาร SO2 ตกค้างในเนื้อลำไยเกิน 45 ppm ขณะนี้มีโรงรม SO2 เขตจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ที่ผ่านมาตรฐาน GMP กรมวิชาการเกษตรให้การรับรอง 33 โรง โดยแต่ละแห่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ นอกจากนี้การส่งออกลำไยสดและลำไยแห้งต้องผ่านการตรวจสารพิษตกค้างจากกรมวิชาการเกษตร การตรวจสารพิษตกค้างในลำไยเพื่อการส่งออก วิเคราะห์โดยเครื่อง GC และ HPLC ผลการวิเคราะห์จะทราบชนิดและปริมาณสารพิษแน่นอนในระดับเป็น มก./กก. (ppm) ในปี 2546/47 มีการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในลำไยสดและลำไยแห้งเพื่อการส่งออก รวม 5,413 ตัวอย่าง เก็บเงินค่าธรรมเนียมการวิเคราะห์นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน 18.39 ล้านบาท การดำเนินงานจัดการคุณภาพลำไยเพื่อการส่งออก เป็นการทำงานแบบบูรณาการไตรภาคี มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรชาวสวนลำไย สามารถผลิตลำไยที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อการส่งออก คิดเป็นมูลค่าสินค้า ลำไยสดและลำไยแห้ง รวม 1,900 และ 2,992 ล้านบาท ตามลำดับ