รายละเอียดบทคัดย่อ


พรทิพย์ นวชาติโฆษิต, ปิติ กันตังกุล, วิพักตร์ จินตนา และ นิตยา เงินประเสริฐศรี . การวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและสังคมในการใช้ที่ดินปลูกไม้กฤษณาในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.334-344.

บทคัดย่อ

         การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพทั่วไปทางเศรษฐกิจและสังคม และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับสัดส่วนของการใช้ที่ดินเพื่อปลูกไม้กฤษณา โดยใช้แบบสัมภาษณ์กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 92 ตัวอย่าง จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรมีสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อปลูกไม้กฤษณาเฉลี่ยร้อยละ 17.60 ของพื้นที่ถือครอง มีขนาดพื้นที่ถือครองเฉลี่ย 55.56 ไร่ต่อครัวเรือน ประเภทของเอกสารสิทธิ์ในการถือครองส่วนใหญ่เป็น ส.ป.ก. 4-01 และ ภบท. 5 และ ภบท. 6 เกษตรกรที่ให้สัมภาษณ์มีระดับการศึกษาไม่สูง คือร้อยละ 76.10 จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 หรือต่ำกว่า สำหรับเงินทุนของเกษตรกรในการปลูกไม้กฤษณาจะเป็นเงินทุนของตนเอง และเกษตรกรคาดหวังให้รัฐ ฯ สนับสนุนในการสร้างโรงกลั่นน้ำมันกฤษณา การจัดหาตลาดรับซื้อ และ การพยุงราคา ตามลำดับ เกษตรกรบางรายมีการลักลอบตัดหรือนำผลผลิตจากไม้กฤษณาในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เพียง 24 ราย และระดับความรู้ในการปลูกไม้กฤษณาอยู่ในระดับปานกลางถึงน้อย และจากการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อปลูกไม้กฤษณา โดยการวิเคราะห์แบบ Least-Squares Analysis พบว่า มีปัจจัยเพียง 3 ตัว คือ ขนาดของพื้นที่ถือครอง แหล่งเงินทุน และความรู้ในการปลูกไม้กฤษณาที่มีความสัมพันธ์กับสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อปลูกไม้กฤษณา โดยค่าสัมประสิทธิ์การตัดสินใจ หรือค่า R2 = 0.622