รายละเอียดบทคัดย่อ


วรรณี คงธนเกษมกุล, นิพนธ์ ทวีชัย อำไพพรรณ, ภราดร์นุวัฒน์ และ สมพร อัศวิลานนท์ . การศึกษาความสัมพันธ์ของปริมาณธาตุอาหารในดินและในส้มเขียวหวานที่เป็นโรคกรีนนิ่ง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.345-356.

บทคัดย่อ

         โรคกรีนนิ่งของส้มซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ จัดเป็นโรคระบาดและทำความเสียหายแก่การปลูกส้มเขียวหวานอย่างรุนแรง อาการของโรคคล้ายกับอาการขาดธาตุสังกะสี ในการศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างธาตุอาหารในใบส้มและในดินของแปลงปลูกส้มเขียวหวานที่เป็นโรคกรีนนิ่ง และศึกษาการจัดการ การปฏิบัติดูแลสวนส้มของเกษตรกรในตำบลศาลาครุ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ผลการศึกษา พบว่าดินปลูกส้มเขียวหวานมีค่าความเป็นกรด-ด่าง อยู่ในระหว่างกรดจัดมากถึงเป็นกรดอ่อน (3.4–6.32) อินทรีย์วัตถุในดิน อยู่ในระดับที่ต่ำจนถึงสูง (2.4 - 4.28 %) ปริมาณธาตุอาหารหลักในดินอยู่ในระดับที่เหมาะสมจนถึงระดับสูง ปริมาณจุลธาตุในดินอยู่ในช่วงต่ำกว่าค่าที่เหมาะสมจนถึงระดับสูงกว่าค่าที่เหมาะสมสำหรับส้ม ปริมาณธาตุอาหารในใบส้ม พบว่าปริมาณธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง มีในระดับที่ขาดแคลนจนถึงระดับที่สูง ปริมาณจุลธาตุอยู่ในช่วงขาดแคลน เหมาะสมจนถึงมากเกิน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณธาตุอาหารในดิน และในใบส้มเขียวหวานพบว่า ปริมาณธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) ธาตุอาหารรอง (แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน) และจุลธาตุ (เหล็ก ทองแดง แมงกานีส และสังกะสี) ได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส ไม่มีความสัมพันธ์กับการแสดงอาการของโรคกรีนนิ่ง สำหรับธาตุสังกะสีนั้น พบว่าในใบที่แสดงอาการของโรคมีปริมาณธาตุอาหารในระดับที่ขาดแคลน ใบส้มที่ไม่แสดงอาการของโรคจะมีปริมาณธาตุ Zn ที่สูงกว่าใบส้มที่แสดงอาการปานกลางและใบส้มที่แสดงอาการรุนแรง โดยความสัมพันธ์เป็นความสัมพันธ์อยู่ในเชิงสอดคล้องหรือผันตาม