รายละเอียดบทคัดย่อ


วรงศ์ นัยวินิจ . ปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างการใช้ทรัพยากรกับการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง : เนื้อหา วิธีการ และผลการศึกษาเบื้องต้น.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 3 :สู่ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม และใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน . ระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2547  ณ โรงแรมปางสวนแก้ว จ. เชียงใหม่.  น.439-451.

บทคัดย่อ

         ลำโดมใหญ่เป็นลุ่มน้ำสำคัญของแม่น้ำมูลตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี ความซับซ้อนของระบบเกษตรกรรมและสังคมของชุมชนในพื้นที่นี้ เกิดจากปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างพลวัตทางกายภาพชีวภาพ (ระบบเกษตรกรรม น้ำและสภาพภูมิอากาศ) กับพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคม (การอพยพย้ายถิ่นและกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของเกษตรกร) โดยประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรและมีอายุระหว่าง 20-35 ปี จะย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานในเมือง ในขณะที่ฝ่ายรัฐก็ได้ลงทุนก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตรให้กับประชากรในพื้นที่ แต่โครงการชลประทานเหล่านั้นดูจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มากนัก งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งที่จะทำความเข้าใจปฏิกิริยาสัมพันธ์ดังกล่าวในส่วนของการอพยพย้ายถิ่นที่มีต่อการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุงวิธีการและนโยบายการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อประชากรที่อาศัยในลุ่มน้ำแห่งนี้ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว ผู้วิจัยจึงนำนวัตกรรมแบบจำลองเสมือนจริงของตัวแทนที่หลากหลาย (Multi-Agent Systems: MAS) มาใช้ทำความเข้าใจปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างพลวัตทางกายภาพชีวภาพ กับพลวัตทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยการสร้างสังคมเสมือนจริงที่มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน MAS เป็นองค์ประกอบหนึ่งในกระบวนการสร้างแบบจำลองเพื่อนคู่คิด “Companion Modeling Approach (ComMod)” ที่เน้นการทำความเข้าใจกระบวนการตัดสินใจของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกรอบของระบบที่กำลังศึกษาแล้วนำกระบวนการตัดสินใจนั้นไปสร้างแบบจำลอง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการสร้างแบบจำลองเพื่อนคู่คิด (ComMod) มีลักษณะหมุนวนจากการสร้างแบบจำลองที่มีพื้นฐานมาจากองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในระบบที่ต้องการศึกษา สลับกับการค้นหาความรู้เพิ่มเติมร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างแบบจำลองต้นแบบ จากนั้นจึงเริ่มกระบวนการปรับปรุงแบบจำลองโดยวิธีการวนไปหางานทดลองหรืองานภาคสนาม การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือเป็นหลักการที่สำคัญมากในกระบวนการสร้างแบบจำลองเพื่อนคู่คิด (ComMod) ทุกมุมมองที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาที่ได้รับจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องนำเข้าไปในโครงสร้างของแบบจำลอง เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ทรัพยากรกับการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน จึงจำเป็นที่จะต้องทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งด้านกายภาพชีวภาพ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ถูกใช้ในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และใช้เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ (spatial entity) ในแบบจำลอง ส่วนกระบวนการตัดสินใจของประชากรที่เกิดขึ้นในระดับครัวเรือนถูกใช้ในการสร้างพฤติกรรมทางสังคมที่มีต่อการใช้ทรัพยากรของตัวแทนของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (agent) ในแบบจำลอง จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ผลกระทบของการอพยพย้ายถิ่นของแรงงานมีต่อรูปแบบการวิธีการจัดการทรัพยากรมากกว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดินที่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีข้าวเป็นพืชหลัก งานวิจัยชิ้นนี้ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาปรับปรุงแบบจำลองให้มีความถูกต้อง และใช้เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชากรที่อาศัยในลุ่มน้ำแห่งนี้ โดยการปรับปรุงแบบจำลองจะทำร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา ผลของแบบจำลองจะสามารถช่วยให้เห็นรูปแบบการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีปฏิกิริยาสัมพันธ์กับพฤติกรรมการอพยพย้ายถิ่นของแรงงาน