รายละเอียดบทคัดย่อ


ศุภกร ชินวรรโณ . การคาดการณ์สภาพอากาศในอนาคตของประเทศไทย : ผลการจำลองสภาพภูมิอากาศโดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.1-16.

บทคัดย่อ

         การคาดการณ์สภาพอากาศอนาคตสำหรับประเทศไทย โดยการจำลองสภาพภูมิอากาศ โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์นี้ เป็นการจัดทำการจำลองสภาพภูมิอากาศรายวัน ในอนาคตในช่วงคริสตศักราช 2010-2099 โดยเป็นการจำลองสภาพภูมิอากาศรายวันที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่สูง และครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด ตลอดจนประเทศข้างเคียง เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนี้อันเนื่องจากผล จากภาวะโลกร้อน และเพื่อให้เกิดผลที่สามารถนำไปใช้ศึกษาต่อในเรื่องผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบและภาคส่วนต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นข้ามขอบเขตพรมแดนของประเทศไทยด้วย เพื่อที่จะได้นำไปสู่การศึกษาถึงภาวะเสี่ยงต่อความเดือดร้อนและแนวทางการปรับตัวต่อสถานการณ์อนาคตต่อไป การจำลองสถานการณ์สภาพภูมิอากาศอนาคตนี้ เป็นการจำลองสภาพอากาศรายวันที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ที่มีความละเอียด 0.22° หรือประมาณ 25x25 กม. โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ PRECIS (Providing REgional Climates for Impacts Studies) (http://precis.metoffice.com/) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย The Met Office Hadley Center for Climate Change ประเทศอังกฤษ และใช้ชุดข้อมูล Global dataset ECHAM4 เป็นข้อมูล พื้นฐานในการคำนวณ โดยใช้รูปแบบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นตามการคาดการณ์แบบ IPCC SRES A2 โดยมีผลสรุปขั้นต้นประกอบด้วยข้อมูลในช่วง ค.ศ. 1980-1989/2010-2039/2070-2099 ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้ สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต มีแนวโน้มที่อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย แต่พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิมนี้จะแผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีหรือฤดูร้อนจะยืดยาวขึ้นมาก และในทางกลับกันพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำจะมีขอบเขตลดลงไปจากเดิมและระยะเวลาที่มีอากาศเย็นก็จะหดสั้นลงอย่างชัดเจนในอนาคต ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทั่วทุกภาค ของประเทศไทย ทั้งในด้านปริมาณและการกระจายตัวของพื้นที่ที่มีจำนวนฝนตกเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ยในแต่ละปีในเกือบทุกพื้นที่ยังคงใกล้เคียงกับที่เคยเป็นมาในอดีต ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะและความยาวนานของฤดูฝน ที่อาจจะเป็นไปได้ในอนาคตว่ายังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นอยู่มากนัก หรืออาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยในอนาคตจะมีฤดูฝนที่ยังคงความยาวนานเท่าเดิม แต่ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีของทุกพื้นที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะบ่งชี้ว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกในแต่ละครั้งในอนาคตจะเพิ่มสูงขึ้นหรืออาจจะเรียกได้ว่าฝนที่ตกแต่ละครั้งจะตกหนักมากขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต