รายละเอียดบทคัดย่อ


กมล งามสมสุข เบญจพรรณ เอกะสิงห์ และ กุศล ทองงาม  . ผลการจำลองสถานการณ์ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในการปลูกข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรในจังหวัดพะเยาและลำปาง.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.148-160.

บทคัดย่อ

         ความผันผวนทางการเกษตรอันเกิดจากความผันผวนทางด้านผลผลิต ราคาผลผลิต และราคาปัจจัยการผลิต ส่งผลให้เกษตรต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านรายได้และกำไรสุทธิ การศึกษานี้ทำการจำลอง (Simulation) ความเสี่ยงในการปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดพะเยาและลำปาง โดยใช้โปรแกรม BestFit เพื่อวิเคราะห์หาฟังก์ชั่นการกระจายตัวหรือ Risk Function ของปัจจัยที่ผันผวนดังกล่าว และใช้โปรแกรม @Risk เพื่อประเมินหรือจำลองโอกาสการขาดทุนจากการปลูกพืชของเกษตรกร ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรในอำเภอต่างๆ ที่ปลูกข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีโอกาสขาดทุนค่อนข้างมาก ถ้าคิดต้นทุนทุกอย่างแล้ว โอกาสการขาดทุนสูงในทุกพืชไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนสูงและมีโอกาสสูงขึ้น ในขณะที่ราคาผลผลิตต่ำ โดยภาพรวม เกษตรกรในจังหวัดลำปางมีโอกาสขาดทุนสูงกว่าเกษตรกรในจังหวัดพะเยา เกษตรกรที่อาศัยอยู่ในอำเภอที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์มากกว่ามักจะไม่มีความเสี่ยงในการปลูกพืชหรือมีความเสี่ยงในระดับต่ำ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสการขาดทุนจากการปลูกพืชทั้งสองชนิดของเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ มากที่สุด คือ ราคาผลผลิตซึ่งเป็นความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ ตามด้วยผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ อัตราค่าจ้างแรงงาน และราคาปุ๋ยเคมี กลยุทธ์ในการลดความเสี่ยง (จากการขาดทุน) ในการปลูกพืชของเกษตรกรจะต้องมีลักษณะเฉพาะพื้นที่และเฉพาะพืช ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเกษตรกร แต่เกษตรกรอาจประหยัดต้นทุนเงินสดที่ไม่จำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงได้ อาจลดการพึ่งพาตลาดลง โดยการผลิตเพื่อการบริโภคในครอบครัว กลยุทธที่สำคัญประการหนึ่งคือการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญด้านการวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่มากขึ้นกว่าเดิม