รายละเอียดบทคัดย่อ


วรงศ์ นัยวินิจ Christophe Le Page มาณิชรา ทองน้อย และ Guy Trebuil  . กระบวนการสร้างแบบจำลองแบบมีส่วนร่วมกับเกษตรกรในระบบการปลูกข้าวเขตน้ำฝน, ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนล่าง .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.161-170.

บทคัดย่อ

         ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีพื้นที่นาเขตน้ำฝนขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซี่งถูกครอบครองและจัดการโดยเกษตรกรรายย่อยที่มีฐานะยากจน ข้อจำกัดทางกายภาพโดยเฉพาะสภาพดินทรายที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ และความไม่แน่นอนของการกระจายตัวของน้ำฝนทั้งในเชิงปริมาณและช่วงเวลา ทำให้การจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิผลต่อการผลิตทางการเกษตรเป็นไปได้ยาก ประกอบกับปริมาณและราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ต่ำ ผลักดันให้เกษตรกรต้องอพยพย้ายถิ่นเข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ที่ให้ผลตอบแทนต่อหน่วยแรงงานสูงกว่า การอพยพย้ายถิ่นไปทำงานนอกภาคเกษตรเพื่อหาเงินจุนเจือครอบครัว จึงเป็นการปรับตัวที่สำคัญของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างการตัดสินใจย้ายถิ่นของแรงงานกับการจัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำ ของเกษตรกรในภูมิภาคนี้ยังคงไม่มีการศึกษากันอย่างลึกซึ้ง งานวิจัยนี้ได้นำการสร้างแบบจำลองแบบมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เรียกว่า ”แบบจำลองเพื่อนคู่คิด (Companion Modeling)” มาใช้เพื่อทำความเข้าใจถึงปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างการย้ายถิ่นของแรงงานกับการจัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำของเกษตรกร และเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปรับตัวของเกษตรกรต่อความเปลี่ยนแปลงของระบบ ที่รวมความเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ, สังคมและเศรษฐกิจ ผ่านการเรียนรู้และวิวัฒนาการองค์ความรู้ไปพร้อมกัน กระบวนการนี้มีการนำเครื่องมือสองชนิดมาใช้ร่วมกันคือ การสวมบทบาทในเกมส์ (Role-Playing Game: RPG) และแบบจำลองภาคี (Agent-Based Modeling: ABM) บทความนี้นำเสนอกระบวนการออกแบบและสร้างแบบจำลองแบบมีส่วนร่วม จากการสร้างแบบจำลองต้นแบบ (Conceptual model) ที่ใช้สร้าง RPG และการนำ RPG มาใช้เพื่อปรับปรุงแบบจำลองต้นแบบร่วมกันกับเกษตรกร แล้วนำไปใช้สร้างแบบจำลอง ABM รวมทั้งนำเสนอผลวิจัยเบื้องต้นของการทดสอบแบบจำลอง ABM ที่นำไปใช้ร่วมกับเกษตรกร