รายละเอียดบทคัดย่อ


บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล ช่อผกา ม่วงสุข และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ  . การใช้แนวคิดการพึ่งพิง (interdependency) กับจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.171-183.

บทคัดย่อ

         การจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเกษตรที่มีผลต่อความอยู่รอดของเกษตรกร ภายใต้สภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนและประกอบด้วยหลายมิติ เช่น พลังขับเคลื่อนจากภายใน (บริบท และนวัตกรรมของเกษตรกร) ลักษณะของความสัมพันธ์ที่ทำให้เกิดกิจกรรมต่อเนื่องและเนื้อหาสาระของกิจกรรมที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร งานวิจัยนี้ได้ศึกษาในความสัมพันธ์ระหว่างการจัดการทรัพยากรและการดำรงชีพครัวเรือน (ชุมชน) และความสัมพันธ์ระหว่างครัวเรือนในชุมชน 2 ระบบ 1. ระบบการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การหมุนเวียนของความหลากหลายชีวภาพของทรัพยากรระหว่างที่ดอนและที่ลุ่ม บ้านฮวก กิ่ง อ.ภูซาง จ.พะเยา และ 2. การจัดการทรัพยากรของชุมชน บ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร มองการพึ่งพิงทรัพยากร เพื่อทำให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน งานวิจัยนี้ใช้กรอบความคิดการอาศัยซึ่งกันและกัน (interdependency) มองความสัมพันธ์ภายในและระหว่างกิจกรรม (task หรือ activities) โดยวิธีการศึกษาเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพและปริมาณผลการศึกษา บ้านฮวก ต.ภูซาง กิ่ง อ.ภูซาง จ.พะเยา วิถีชีวิตเกษตรกรผูกพันกับการเกษตรตลอดทั้งปี โดยใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งบนที่ดอน ที่ราบเชิงเขา และที่ราบลุ่ม ระบบเกษตรที่ผนวกเอาความหลากหลายชีวภาพในกระบวนการผลิตได้คำนึงถึงการไหลเวียนของทรัพยากร (resource flow) ระหว่างที่ดอน และที่ราบลุ่ม เนื่องจากการเคลื่อนไหวของเกษตรกรและกระบวนการตัดสินใจ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับระบบการใช้ประโยชน์ที่ดินและการจัดการความหลากหลายชีวภาพทางเกษตรเพื่อการผลิตเป็นอาหารและรายได้ ระบบการผลิตที่เข้มข้นและต่อเนื่อง ระหว่างพื้นที่ดอนเชิงเขาและที่ราบลุ่มของเกษตรกรบ้านฮวก ผู้นำและเกษตรกรที่มีความพร้อมเงินลงทุนและทุนทางสังคม 34 คน ร่วมลงทุนธุรกิจเกษตรในหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาวในรูปแบบพันธะสัญญาส่วนกรณี บ้านดงสาร ต.โพนงาม อ.อากาศอำนวย เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง วิถีชีวิตของชุมชนบ้านดงสารมีความผูกพันกับภาวะน้ำท่วมซึ่งมีระยะเวลานานร่วม 2 เดือน ในฤดูฝนมีพื้นที่ไม่ถึงร้อยละ 10 ที่สามารถปลูกข้าวนาปีเพื่อเป็นอาหาร ป่าบุ่งป่าทามในพื้นที่ชุ่มน้ำแม่น้ำสงครามตอนล่างเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงชีพของชุมชน นอกจากความหลากหลายของชนิดปลา ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด ในแม่น้ำสงคราม และแหล่งน้ำต่างๆ ในบ้านดงสาร ป่าบุ่งป่าทามยังเป็นแหล่งอาหารและรายได้เสริมของชุมชน ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไส้เดือนท้องถิ่นได้กลายเป็นสัตว์ที่สร้างรายได้ตามฤดูกาลระหว่างเดือนกันยายนถึงตุลาคมให้กับชุมชน อย่างไรก็ตามในส่วนการนำไส้เดือนมาใช้ประโยชน์นั้น แม้ว่าครัวเรือนจะยังพึ่งพิงทรัพยากร แต่ก็ขาดการวางกติกาที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรหลายกิจกรรมแต่ในกรณีไส้เดือนยังขาดการวางแผนการฟื้นฟูในระยะยาวการจัดการทรัพยากรอย่างมีส่วนร่วมเกิดขึ้นบ้านดงสาร เนื่องมาจากความต้องการความมั่นคงด้านอาหาร รายได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กรณีศึกษาการจัดการทรัพยากรเพื่อการพัฒนาเกษตรทั้ง 2 พื้นที่ ซึ่งมีบริบทที่ต่างกัน มีกลุ่ม รูปแบบการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันแตกต่างกัน 4 กลุ่ม และการจัดการได้ชี้ให้เห็นนวัตกรรมทางสังคมซึ่งแสดงออกในรูปของความสัมพันธ์ภายในชุมชนที่ร่วมกำหนดกติกา การจัดการทรัพยากรชีวภาพที่ก่อให้เกิดกิจกรรมกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน มีความยืดหยุ่นที่เปิดโอกาสให้สมาชิกภายในชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมอย่างอิสระตามศักยภาพของตนเอง การปฏิบัติร่วมกันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในชุมชน ทำให้เกิดการอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นทุนสังคมที่สำคัญต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพ