รายละเอียดบทคัดย่อ


ช่อผกา ม่วงสุข บุศรา ลิ้มนิรันดร์กุล และ พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ  . การกระจายการผลิตในการดำรงชีพเพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.213-224.

บทคัดย่อ

         การกระจายการผลิตเพื่อการอยู่รอดของเกษตรกรรายย่อยเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เกษตรกรรายย่อยภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดด้านที่ดิน แรงงาน และทุน ไม่สามารถที่จะดำรงชีพอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงระบบการผลิตทางเกษตรเพียงอย่างเดียว การดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจึงต้องพึ่งพิงรายได้จากกิจกรรมนอกภาคเกษตร หรือมีการอพยพทำงานต่างถิ่นเพื่อส่งรายได้จุนเจือครอบครัว ในขณะเดียวกันพบว่า เกษตรกรรายย่อยในหลายพื้นที่ยังคงยึดถือ อาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยมีการปรับตัวด้วยการกระจายการผลิตเพื่อลดความเสี่ยง จัดระบบแรงงานแลกเปลี่ยนระหว่างครัวเรือน เพื่อลดต้นทุนและดำเนินการผลิตให้ทันต่อฤดูกาล บทความนี้นำเสนอการปรับตัวของวิถีการดำรงชีพของเกษตรกรรายย่อย และกลไกทางสังคมที่สนับสนุนกระบวนการผลิตและการพัฒนาการเกษตรรวมถึงการดำรงชีพของคนในชุมชนที่ยังพึ่งพิงเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำการศึกษาในพื้นที่เกษตรชลประทาน บ้านดง ป่าลัน ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรมีวิถีการดำรงชีพพึ่งพิงเกษตรกรรมเป็นหลักแต่มีระบบการกระจายการผลิตเพื่อลดความเสี่ยงที่หลากหลาย โดยภาพรวมสมาชิกมีรายได้จากภาคเกษตร ร้อยละ 74 และนอกภาคเกษตร ร้อยละ 26 ทำการเก็บข้อมูลในกลุ่มเกษตรกรที่มีการผลิตข้าวเป็นพืชหลักโดยใช้การดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนเป็นกรอบการศึกษา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มเกษตรกรมีการตัดสินใจในการกระจายการผลิตแตกต่างกัน การ เข้าถึงตลาดเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดกิจกรรม ซึ่งเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างสมาชิกชายหญิงในครัวเรือนเกษตรแบบมีพันธะสัญญารูปแบบต่างๆ เป็นทางเลือกที่สำคัญ การปรับปรุงการสื่อสารและการร่วมรับภาระความเสี่ยงระหว่างบริษัทและเกษตรกร จะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต และเกิดการกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม นอกจากระบบการปลูกพืชหมุนเวียนที่มีข้าวเป็นพืชหลักเกษตรกรได้พัฒนาระบบการปลูกพืชเหลื่อมฤดู เช่น พริกในระบบข้าวโพดหวานและข้าวโพดข้าวเหนียว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน แรงงาน และรายได้ที่นำไปใช้เป็นเงินก้อนเพื่อลงทุนในฤดูนาปีและชำระสินเชื่อ การผสมผสานปศุสัตว์ในระบบเกษตรโดยอาศัยเศษวัสดุในแปลงผลิตได้เพิ่มโอกาสการสะสมทุนของครัวเรือน อย่างไรก็ตามสินเชื่อรูปแบบต่างๆ มีความจำเป็นต่อการพัฒนาการกระจายการผลิตนโยบายการกระจายการผลิตจากภาครัฐจำเป็นต้องพิจารณาถึงลักษณะครัวเรือนเกษตรกร และมีลักษณะที่สัมพันธ์กับบริบทท้องถิ่น แต่หลักการทั่วไปที่ต้องคำนึง คือ ทุนมนุษย์ โครงสร้างพื้นฐาน สินเชื่อ และสิ่งอำนวยที่เกื้อหนุนต่อการิเริ่มและการพัฒนาจากภายในของเกษตรกร