รายละเอียดบทคัดย่อ


สุภา รันดาเว กิตติพร ศรีสวัสดิ์ วันเลิศ วรรณปิยะรัตน์ วัชรินทร์ ปางค์ชัยภูมิ วิโรจน์ จันทรโชติ วิศิษย์ จุ้ยดอนกลอย บัญญัติ แหวนแก้ว ปรีชา เพชรประไพ และ Reinhardt H. Howeler  . การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแบบเกษตรกรม ีส่วนร่วมเพื่อเกษตรยั่งยืน ในภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือของประเทศไทย.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.263-273.

บทคัดย่อ

         การพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน ในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแบบเกษตรกรมีส่วนร่วมเพื่อเกษตรยั่งยืนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ดำเนินการระหว่างปี 2545-2547 โดยกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับศูนย์เกษตรเขตร้อนนานาชาติ (CIAT) และศูนย์วิจัยและพัฒนามันสำปะหลังห้วยบง ในมูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการจัดการดินและพืชในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง โดยใช้วิธีการวิจัยแบบเกษตรกรมีส่วนร่วม (Farmer Participatory Research, FPR) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้ตระหนักถึงปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และนำวิธีการป้องกันการชะล้างพังทลายของดินที่เหมาะสมกับตนเองไปใช้ในการผลิตมันสำปะหลัง ทำให้การผลิตมีความยั่งยืนและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นผลการดำเนินการพบว่า เกษตรกรมีความตระหนักและกระตือรือร้นที่จะป้องการชะล้างพังทลายของดิน โดยเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันการชะล้างพังทลายของดินได้ดีมากเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร และเกษตรกรยอมรับ มากที่สุด ร้อยละ 52.6 คือ การปลูกมันสำปะหลังระหว่างแถบหญ้าแฝกกลุ่มพันธุ์สงขลา 3 และพันธุ์เวียดนามสามารถลดการสูญเสียดินได้ ร้อยละ 47.8-75.9 รองลงมาคือ การใช้ระบบพืชแซมโดยการปลูกมันสำปะหลังแซมด้วยถั่วพร้า เกษตรกรยอมรับ ร้อยละ 32.6 โดยลดการสูญเสียดินได้ 12.3% ยอมรับการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับมูลไก่ ร้อยละ 30.8 ถึงแม้ว่าจะไม่ช่วยลดการสูญเสียดินแต่ก็ช่วยในด้านการบำรุงดิน ยอมรับการปลูกพืชแซมด้วยถั่วพุ่ม ร้อยละ 27.8 ลดการสูญเสียดินได้ ร้อยละ 9.8 การปลูกระยะชิดยอมรับ ร้อยละ 20.8 ไม่ช่วยลดการสูญเสียดินแต่ได้ผลผลิตมากกว่าวิธีอื่นๆ นอกจากนี้ยอมรับการยกร่องขวางความลาดเท ร้อยละ 18.6 เพราะสามารถลดการสูญเสียดินได้ร้อยละ 1.8 และยอมรับการปลูกพืชแซมด้วยถั่วเขียวที่ช่วยบำรุงดิน ร้อยละ 15.2 และลดการสูญเสียดินได้ ร้อยละ 48 ส่วนวิธีการอื่นๆ เช่น ระบบการปลูกพืชแซมด้วยฟักทอง ถั่วลิสง และข้าวโพด ที่ช่วยเพิ่มรายได้และให้รายได้สุทธิอยู่ในเกณฑ์สูง แต่เมื่อนำไปทดสอบในพื้นที่พบว่าไม่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สำหรับการใช้แถบหญ้าอาหารสัตว์ Paspalum atratum และแถบพืชตระกูลถั่ว Tephrosia candida เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ถึงแม้ว่าจะลดการสูญเสียดินได้มากก็ตาม