รายละเอียดบทคัดย่อ


รัชนี โสภา สุพัฒน์ ว่านเครือ วาสนา พัฒนมงคล ศรัญญา พวงมาลัย พรศักดิ์ ดวงพุดตาน และ สมศักดิ์ ศรีสมบุญ  . การใช้พืชปุ๋ยสดปรับปรุงบำรุงดินก่อนปลูกถั่วเหลืองฝักสดอินทรีย์สภาพไร่อาศัยน้ำฝน .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.283-294.

บทคัดย่อ

         ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มีธาตุอาหารสะสมในดินเพิ่มขึ้น ให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของถั่วเหลืองฝักสดในระบบการปลูกพืชอินทรีย์สภาพไร่ จำนวน 2 การทดลอง โดยการทดลองที่ 1 เป็นการศึกษาหาชนิดของพืชปุ๋ยสดที่สามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินในสภาพไร่ได้ดีและให้ผลผลิตถั่วเหลืองฝักสดสูง ทำการทดลองในปี 2547-2548 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 4 ซ้ำ 6 กรรมวิธี ได้แก่ 1) ไม่ปลูกพืชปุ๋ยสด 2) หว่านปอเทือง อัตรา 5 กก./ไร่ 3) หว่านโสนอัฟริกัน อัตรา 5 กก./ไร่ 4) โรยถั่วมะแฮะ อัตรา 8 กก./ไร่ 5) โรยถั่วพร้า อัตรา 10 กก./ไร่ และ 6) โรยถั่วพุ่มดำ อัตรา 8 กก./ไร่ ในต้นฤดูฝน สภาพดินก่อนการปลูกพืชปุ๋ยสดมีค่า pH 4.4 อินทรียวัตถุ 0.66% ปริมาณฟอสฟอรัสและ โพแทสเซียม 28 และ 105 มก./กก. ตามลำดับ หลังการย่อยสลายพืชปุ๋ยสดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่า ดินมีอินทรียวัตถุ ปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมโดยเฉลี่ยสูงขึ้นในทุกกรรมวิธี (0.95%, 38.5 และ 125 มก./กก. ตามลำดับ) และเมื่อปลูกถั่วเหลืองฝักสด พบว่า กรรมวิธีที่ปลูกปอเทือง ถั่วมะแฮะและ ถั่วพร้า ให้น้ำหนักฝักดีสูงไม่แตกต่างกันในทั้ง 2 ปี มีน้ำหนักฝักดีเฉลี่ย 143, 153 และ 144 กก./ไร่ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาผลผลิตฝักสดมาตรฐานในทั้ง 2 ปี พบว่า ถั่วมะแฮะให้ผลผลิตฝักสดมาตรฐานเฉลี่ยสูงที่สุด (101 กก./ไร่) แตกต่างจากกรรมวิธีอื่นๆ รองลงมา คือ ถั่วพร้า และปอเทือง (94 และ 90 กก./ไร่ ตามลำดับ) สำหรับการทดลองที่ 2 เป็นการศึกษาการใช้ปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินปลูกในต้นฤดูฝน ทำการทดลอง ในปี 2549-2550 ปลูกทดสอบในพื้นที่จำนวน 1 ไร่ แล้วปลูกถั่วเหลืองฝักสดตาม เปรียบเทียบกับแปลงที่ไม่มีการปลูกปอเทือง พบว่า สภาพดินก่อนปลูกปอเทืองมีค่า pH 6.0 อินทรียวัตถุในดิน 1.91% ปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม 128 และ 207 มก./กก. ตามลำดับ หลังการย่อยสลายพืชปุ๋ยสดเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า ดินมีค่า pH โดยเฉลี่ยทั้ง 2 ปี 6.2 อินทรียวัตถุในดิน 3.3% ปริมาณฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม 93 และ 514 มก./กก. ตามลำดับและเมื่อปลูกถั่วเหลืองฝักสด พบว่า ให้น้ำหนักฝักสดรวมเฉลี่ย 1,671 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดมาตรฐานเฉลี่ย 158 กก./ไร่ ขณะที่แปลงที่ไม่มีการปลูกปอเทือง มีน้ำหนักฝักสดรวมเฉลี่ย 1,293 กก./ไร่ น้ำหนักฝักสดมาตรฐานเฉลี่ย 100 กก./ไร่ ดังนั้น การปลูกถั่วเหลืองฝักสดอินทรีย์สภาพไร่ โดยปลูกปอเทืองเป็นพืชปุ๋ยสดบำรุงดินก่อนปลูกถั่วเหลืองฝักสด สามารถช่วยทำให้ดินมีค่าความเป็นกรด-ด่างดีขึ้น มีอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารในดินเพิ่มขึ้นและทำให้ได้ผลผลิตถั่วเหลืองฝักสดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 378 กก./ไร่ เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่มีการปลูกปอเทืองบำรุงดิน