รายละเอียดบทคัดย่อ


ยศ บริสุทธิ์ สุจินต์ สิมารักษ์ และ วิริยะ ลิมปินันทน์  . กระบวนการจัดการมาตรฐานในการผลิตข้าวอินทรีย์ในจังหวัดอุบลราชธานี.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.325-340.

บทคัดย่อ

         การศึกษานี้มุ่งศึกษากระบวนการจัดการมาตรฐานข้าวอินทรีย์ใน จ.อุบลราชธานี โดยใช้เทคนิค RRA ในปีการผลิต 2546/47-50/51 พบว่า มีองค์กรที่ดำเนินการขับเคลื่อนการผลิตข้าวอินทรีย์ 6 องค์กร ปัจจุบันมีกระบวนการจัดการมาตรฐานอินทรีย์ในระบบการผลิตข้าวอินทรีย์ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) การจัดการผลิตตามแนวข้อกำหนดหรือมาตรฐานของกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อการบริโภคเองในสมาชิกครัวเรือน เครือข่ายบริโภคได้ 2) การจัดการผลิตตามแนวมาตรฐานในประเทศ ซึ่งจัดการมาตรฐานการผลิตเฉพาะกระบวนการเพาะปลูกในระดับไร่นาเท่านั้น 3) การจัดการผลิตตามแนวมาตรฐานในประเทศเพื่อเป็นพื้นฐานในการยกระดับสู่มาตรฐานจากต่างประเทศ และการจัดการมาตรฐานในระบบการผลิตนี้เป็นแบบ cluster โดยองค์กรส่งเสริมดำเนินการเฉพาะกระบวนการส่งเสริมการเพาะปลูกในไร่นาจนถึงการรวบรวมซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ส่วนกระบวนการอื่นๆ จนถึงมือผู้รับซื้อ ณ ต่างประเทศ เป็นการดำเนินการต่อยอด โดยบริษัทส่งออก และ 4) การจัดการผลิตตามแนวมาตรฐานจากต่างประเทศ โดยได้ผนวกเข้ากับแนวมาตรฐานการค้ายุติธรรม (fair trade) และมาตรฐานเชิงคุณภาพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำการจัดการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระบบการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตในระดับไร่นาจนถึงมือผู้รับซื้อในต่างประเทศ จากการศึกษาปีการผลิต 2546/47-50/51 พบว่า 1) มาตรฐานกลุ่มหรือเครือข่าย มาตรฐานในประเทศ และมาตรฐานจากต่างประเทศมีความแตกต่างกันในข้อกำหนด จึงทำให้กระบวนการในการจัดการมาตรฐานในระบบการผลิตมีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติ 2) ความแตกต่างในกระบวนการจัดการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มีผลต่อการตัดสินใจรับซื้อของประเทศผู้นำเข้า 3) ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบภายในและค่าบริการรับรองมาตรฐานจาก CB มีผลต่อความคุ้มทุนของบริษัทผู้ส่งออกในการดำเนินการส่งเสริมด้วยตนเอง 4) องค์กรที่มีความพร้อมด้านการเงิน บุคลากรและประสบการณ์สั่งสมจากการเคยเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ย่อย (sub-licensee) ในใบรับรอง (certificate) ในฐานะผู้รับจ้างช่วง (supplier) ของบริษัทส่งออก มาแล้ว องค์กร ส่งเสริมบางองค์กรจะแยกตัวเพื่อเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ (licensee) ในใบรับรอง (certificate) ด้วยตนเอง 5) การมีนโยบายรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรมีผลต่อการผลิตข้าวให้ได้ตามแนวมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และ 6) การส่งเสริมการผลิตที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร มีผลต่อการผลิตข้าวให้ได้ตามแนวมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่องค์กรส่งเสริมพึงประสงค์