รายละเอียดบทคัดย่อ


พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา Cecile Barnaud นันทนา คชเสนี และ Guy Trebuil  . การร่วมตัดสินใจหาทางเลือกเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจการเกษตร ในจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และลำปาง .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.359-370.

บทคัดย่อ

         การศึกษานี้ประยุกต์ใช้วิธีการวิเคราะห์เป็นลำดับชั้น (Analytic Hierarchy Process: AHP) ร่วมกับโปรแกรมระบบร่วมตัดสินใจ (รตส.) ที่พัฒนาโดย เมธีและคณะ (2549) เพื่อค้นหาทางเลือกในการลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจในภาคเกษตรของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ พะเยา และลำปาง ได้นำโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นไปลองใช้ในการปฏิบัติกับกลุ่มเกษตรกรจริง เนื้อหาที่ได้ทำการศึกษากับเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นการหาทางเลือกในการปลูกผักปลอดสารพิษ สำหรับการศึกษากับเกษตรกรในจังหวัดพะเยาและลำปางมีวัตถุประสงค์เพื่อหาทางเลือกในการลดความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่เกษตรกรเผชิญอยู่ การศึกษาทั้งสองส่วนใช้โปรแกรม รตส. เป็นเครื่องมือที่สำคัญ การศึกษานี้พบว่า โปรแกรมสำเร็จรูป รตส. นี้ใช้งานได้อย่างดีและเป็นเครื่องมือช่วยงานที่สำคัญ กระบวนการศึกษาที่ใช้สามารถทำให้เกษตรกรพูดคุยกันในเรื่องที่เป็นทางเลือกและข้อจำกัดที่เผชิญอยู่ และยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเรียงลำดับความสำคัญของหลักเกณฑ์ได้ โดยการให้เปรียบเทียบทีละคู่ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายต่อความเข้าใจของเกษตรกร ผลของการหาทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจนั้นแตกต่างไปในแต่ละกลุ่มเกษตรกร ความเสี่ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจของเกษตรกรคือ ด้านราคาผลผลิต ด้านตลาด ราคาปัจจัยการผลิต และ ความแปรปรวนของผลผลิต ทางเลือกที่อาจนำมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ การเปลี่ยนมาทำนาหว่าน การตั้งกองทุนและตลาดชุมชน การตั้งกลุ่มปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การฟื้นฟูการลงแขกเพื่อลดต้นทุน การตั้งกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น เกษตรกรสามารถนำความคิดดังกล่าวไปวางแผนงานผ่านระบบการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลได้เป็นอย่างดี โปรแกรมสำเร็จรูป รตส. มีศักยภาพในการนำมาใช้เป็นประโยชน์ในลักษณะอื่น และพื้นที่อื่นได้