รายละเอียดบทคัดย่อ


พงษ์ชัย ดำรงโรจน์วัฒนา Cecile Barnaud นันทนา คชเสนี และ Guy Trebuil  . การวิเคราะห์ปัญหาและการใช้แบบจำลองเพื่อนคู่คิดเพื่อบูรณาการผู้มีผลประโยชน์ร่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ตอนบน.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.371-378.

บทคัดย่อ

         ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่สูงได้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้ทำลายทรัพยากรป่าไม้มาเป็นเวลานาน ในช่วงทศวรรษที่ 19 ภาครัฐได้เน้นการจัดการป่าไม้โดยจำกัดพื้นที่ทำกินและการใช้ประโยชน์จากป่า แต่ในขณะเดียวกันภาครัฐก็มีนโยบายการกระจายอำนาจการปกครองและเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน จากความขัดแย้งของนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชุมชนในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มมากขึ้น ในสถานการณ์เช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยวิธีการจัดการแบบมีส่วนร่วมที่สามารถส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามหลายโครงการที่นำรูปแบบการจัดการนี้ไปใช้ ได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดบางประการ โดยเฉพาะการขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานระดับสูงและขาดการให้ความสำคัญต่อข้อมูลด้านสังคมและการปกครอง ทำให้ผู้ที่มีอำนาจน้อยมักไม่ได้รับโอกาสให้เข้าร่วมในกระบวนการการมีส่วนร่วม บทความนี้นำเสนอถึงประโยชน์ของการวิเคราะห์สภาพปัญหาและการใช้แบบจำลองเพื่อนคู่คิด (Companion Modelling) ซึ่งเป็นหนึ่งแนวคิดของวิธีการจัดการแบบมีส่วนร่วม เพื่อลดข้อด้อยของการจัดการแบบมีส่วนร่วมดังกล่าวข้างต้นและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยกันอย่างจริงจังระหว่างสมาชิกในชุมชนกับหน่วยงานระดับสูง โดยประเด็นศึกษาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างชาวเขาเผ่าเย้าและการจัดตั้งอุทยานแห่งชาตินันทบุรี จ.น่าน ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์รูปแบบการเกษตรและการวิเคราะห์องค์กรและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อประเมินลักษณะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่ต้องการแก้ไข ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จากแนวคิดนี้จะสามารถใช้ในการจำแนกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคของการนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในกระบวนการจัดการแบบมีส่วนร่วม และการวิเคราะห์นี้สามารถใช้ร่วมกับแบบจำลองเพื่อนคู่คิดเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว นอกจากนี้การทราบถึงสภาพการณ์เริ่มต้นของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการติดตามการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบของกระบวนการการมีส่วนร่วม