รายละเอียดบทคัดย่อ


ธีรพร กงบังเกิด และ สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน  . ฐานข้อมูลศักยภาพและความพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการผลิตวัตถุดิบ อาหาร และเครื่องดื่มจากผลผลิต ทางการเกษตรในจังหวัดตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตกในประเทศไทย (ตาก-เพชรบูรณ์).  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.423-429.

บทคัดย่อ

         งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลกลุ่มศักยภาพและความพร้อมของวิสาหกิจชุมชนในการผลิต(1) วัตถุดิบ (2) อาหาร และ (3) เครื่องดื่มจากผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดที่ผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกในประเทศไทยในเขตภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 269 กลุ่ม ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ ตาก (40 กลุ่ม ) กำแพงเพชร (46 กลุ่ม ) สุโขทัย (49 กลุ่ม ) พิษณุโลก (66 กลุ่ม) และเพชรบูรณ์ (68 กลุ่ม ) โดยใช้แบบสอบถามสำรวจข้อมูลด้านต่างๆ ได้แก่ข้อมูลทั่วไป บุคลากร การผลิต ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ การตลาด ทัศนคติและความพึงพอใจ ประเภทปัญหาและการดำเนินกิจกรรมและนำมาวิเคราะห์และจัดกลุ่มโดยใช้เทคนิค K-Means Clustering โดยแบ่งกลุ่มศักยภาพเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ สูง ปานกลางและต่ำ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มวิสาหกิจในแต่ละจังหวัดมีจุดเด่นและจุดที่ต้องปรับปรุงแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในทั้ง 5 จังหวัด กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ผลิตอาหารแปรรูป กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัด ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ มีการขนส่งสินค้าไปขายยังสถานที่อื่น ภายในรัศมีไม่เกิน 150 กิโลเมตรจากกลุ่มที่ผลิต ส่วนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลกมีการส่งสินค้าไปขายในรัศมีภายใน 450 กิโลเมตรจากกลุ่ม ผลการจัดกลุ่มศักยภาพ พบว่า วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ในจังหวัดตาก (47% ) กำแพงเพชร (50% ) สุโขทัย (51% ) และเพชรบูรณ์ (44% )มีศักยภาพปานกลาง ยกเว้นจังหวัดพิษณุโลกที่วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่มีศักยภาพต่ำ (49%) เมื่อเปรียบเทียบศักยภาพของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งหมด 269 กลุ่ม ใน 5 จังหวัด พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่มีศักยภาพสูงด้านการผลิต ประเภทปัญหาและการดำเนินกิจกรรม เนื่องจากมีการใช้วัตถุดิบในพื้นที่และมีการคัดเลือกวัตถุดิบที่นำมาแปรรูป สามารถแก้ไขและจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีและมีการวางแผนการผลิตที่ดี ผลการวิเคราะห์ทางสถิติเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของวิสาหกิจชุมชนแบ่งตามข้อมูลการประเมินพบว่าการดำเนินงานด้านบุคลากร การผลิต การตลาด การจัดการกับปัญหาและคะแนนรวมทุกด้านของวิสาหกิจชุมชนใน 5 จังหวัดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)