รายละเอียดบทคัดย่อ


ภิเชษฐ์ ใบเขียว และ เพิ่มพูน กีรติกสิกร  . อิทธิพลของไนโตรเจนและโพแทสเซียมต่อผลผลิตและคุณภาพของพืชพลังงานทดแทน: แก่นตะวัน .  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.439-446.

บทคัดย่อ

         แก่นตะวันเป็นพืชหัวที่มีน้ำตาลฟรุ๊กโตสโมเลกุลขนาดใหญ่ (long chain fructose) เรียกว่า อินนูลิน (inulin) สำหรับประเทศไทยพืชนี้เป็นที่รู้จักน้อยมาก และยังไม่มีการผลิตเป็นการค้า เพื่อเป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตพืชนี้ในประเทศไทย โดยงานทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนและโพแทสเซียมต่อผลผลิตและคุณภาพของแก่นตะวัน โดยใช้แผนการทดลองแบบ 5x5 Factorial in Completely Randomized Design (CRD) มี 25 ตำรับทดลอง จำนวนวน 3 ซ้ำ ปัจจัยที่ 1 ประกอบด้วยอัตราปุ๋ยไนโตรเจน 5 ระดับคือ 0, 40, 80, 120 และ 160 กิโลกรัม N ต่อเฮกตาร์ ส่วนปัจจัยที่ 2 ประกอบด้วยอัตราปุ๋ยโพแทสเซียม 5 ระดับคือ 0, 100, 200, 300 และ 400 กิโลกรัม K ต่อเฮกตาร์ ผลการทดลองพบว่า การเพิ่มอัตราโพแทสเซียมในสภาพไม่ใส่ไนโตรเจนร่วมด้วยหรือการเพิ่มอัตราไนโตรเจนในสภาพไม่ใส่โพแทสเซียมร่วมด้วยไม่มีผลต่อน้ำหนักหัวสดและแห้ง การใส่ไนโตรเจน 120 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ร่วมกับการใส่โพแทสเซียม 100 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ให้น้ำหนักหัวสดและแห้งสูงสุด และทำให้จำนวนหัวต่อต้นสูงสุดด้วย การใส่ไนโตรเจนในอัตรา 40-120 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์เพิ่มน้ำหนักลำต้นและใบของแก่นตะวัน เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ใส่ไนโตรเจนและโพแทสเซียม แต่อัตราดังกล่าวไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ การใส่โพแทสเซียมสูงกว่า 300 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ในทุกอัตราการเพิ่มไนโตรเจน 40-160 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ทำให้น้ำหนักหัวสดและแห้งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อใส่ไนโตรเจนสูงกว่า 120 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ ทำให้น้ำหนักลำต้นและใบลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และการใส่ไนโตรเจน และโพแทสเซียมไม่ทำให้ค่าบริกซ์แตกต่างกัน