รายละเอียดบทคัดย่อ


จริยา ฉัตรคำ ดรุพันธุ์ แสนศิริพันธ์ และ อำพรรณ พรมศิริ  . แนวทางการจัดการปุ๋ยเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มการตรึงไนโตรเจนสำหรับการปลูกถั่วเหลืองฝักสด.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 4 :เกษตรเพื่อชุมชนและสิ่แวดล้อม พร้อมรับโลกร้อน . ระหว่างวันที่ 27-28 พฤษภาคม 2551  ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเอ็มเพรส เชียงใหม่.  น.458-467.

บทคัดย่อ

         ในการปลูกถั่วเหลืองฝักสดเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราสูง โดยไม่คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดินในการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาแนวทางในการลดการใส่ปุ๋ยเคมี โดยนำผลการวิเคราะห์ดินมาใช้พิจารณา กำหนดอัตราการใส่ปุ๋ย P และ K และเพิ่มประสิทธิภาพการตรึง N โดยการใช้เชื้อแบคทีเรียปมรากถั่วคลุกเมล็ดถั่ว และใส่ปุ๋ย N โดยการฝังลึก ในการทดลองใช้ถั่วเหลืองฝักสดนัมเบอร์ 75 ปลูกในพื้นที่ซึ่งใช้ปลูกถั่วเหลืองมาเป็นเวลานาน ใช้แผนการทดลองแบบ split plot มี 4 ซ้ำ กรรมวิธีใน main plot มี 2 กรรมวิธี คือ การคลุกและไม่คลุกเมล็ดถั่วด้วยผงเชื้อไรโซเบียม ส่วนกรรมวิธีใน sub plot คือ การจัดการปุ๋ยซึ่งมี 4 กรรมวิธี ได้แก่ 1) กรรมวิธีควบคุม ซึ่งเป็นการจัดการปุ๋ยตามคำแนะนำของ บ.ลานนาเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด (FR) โดยใช้ N 34.71 กก./ไร่ P2O5 14 กก./ไร่ และ K2O 18 กก./ไร่ และใช้วิธีการใส่ปุ๋ยตามที่นิยมใช้กันทั่วไป 2) ใส่ปุ๋ย N P และ K ในอัตราเดียวกับกรรมวิธีที่ 1 แต่ใส่ N โดยการฝังลึกลงไปในดิน 20 ซม. (FRD) 3) ใส่ปุ๋ยตามผลการวิเคราะห์ดินและความต้องการของพืช (FS) ซึ่งดินในแปลงทดลองมีปริมาณของฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ได้ และโพแทสเซียมที่สามารถแลกเปลี่ยนได้ในระดับสูง จึงใส่เฉพาะ N ในอัตรา 23.8 กก.N/ไร่ และใส่ตามวิธีการที่ใช้กันทั่วไป 4) ใช้ปุ๋ยในอัตราเดียวกับที่ใช้ในกรรมวิธีที่ 3 แต่ใช้ N โดยการฝังลึกระดับ 20 ซม. (FSD) ศึกษาการตรึง N ของถั่วเหลือง โดยใช้ยูริไอด์เทคนิค ผลการทดลองพบว่า การใส่เชื้อแบคทีเรียปมรากถั่ว ทำให้ถั่วมีน้ำหนักแห้งของปม เปอร์เซ็นต์ N ที่ได้จากการตรึงที่ระยะ R 3.5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกรรมวิธีการจัดการปุ๋ยก็มีผลต่อน้ำหนักแห้งของปม และเปอร์เซ็นต์ N ที่ได้จากการตรึงด้วย (P0.05) โดยใส่ปุ๋ยในอัตรา FRD และ FSD ให้ผลไม่แตกต่างกัน ในแง่ของการทำให้ถั่วเหลืองมีน้ำหนักแห้งของปมและเปอร์เซนต์ N ที่ได้จากการตรึงเพิ่มขึ้นและทั้งสองอัตราเป็นการจัดการปุ๋ยที่ให้ผลดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบการจัดการปุ๋ยอัตรา FR รองลงมาคือ อัตรา FS ซึ่งทำให้ถั่วเหลืองมีน้ำหนักแห้งของปม และเปอร์เซนต์ N สูงกว่าอัตรา FR แต่ปุ๋ยอัตรานี้ทำให้เปอร์เซ็นต์ N ที่ได้จากการตรึงต่ำกว่าอัตรา FRD และ FSD (P0.05) ในแง่ของการสะสม N ในส่วนเหนือดิน พบว่า การใส่ปุ๋ยอัตรา FS และ FSD ไม่แตกต่างจากอัตรา FR ในทางสถิติ ส่วนอัตรา FRD ทำให้การสะสม N ในส่วนเหนือดินต่ำกว่าอัตรา FR (P0.05) ที่ระยะ เก็บเกี่ยวการจัดการปุ๋ย และการใส่เชื้อ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างการใส่เชื้อกับการจัดการปุ๋ย ไม่มีผลทำให้ผลผลิตถั่วเหลืองฝักสดทั้งหมด และ ถั่วเหลืองฝักสดที่ได้มาตรฐานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในแง่ของจำนวนฝักที่ได้มาตรฐานใน 1 กก. พบว่า การจัดการปุ๋ยแบบ FR ทำให้จำนวนฝักต่อกิโลกรัมมีประมาณ 296 ฝัก ในขณะที่การจัดการปุ๋ยแบบ FS ทำให้จำนวนฝักต่อกิโลกรัมมีมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (326 ฝัก) ส่วนการใส่ปุ๋ย N แบบฝังลึกให้ผลไม่แตกต่างจากการใส่ปุ๋ย N แบบไม่ฝังลึก (P0.05) ไม่ว่าจะใช้ปุ๋ยในอัตรา FR หรือ FS ก็ตาม ในแง่ของค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ย พบว่า การใช้ปุ๋ยอัตรา FS ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ 68% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตรา FR