รายละเอียดบทคัดย่อ


วัชริน มีรอด กุลวรางค์ สุวรรณศรี อุทัยวรรณ กรุดลอยมา และ มรกต ตันติเจริญ . เทคโนโลยีกุญแจสำคัญสู่สมดุลระหว่างการใช้พืชเป็นอาหารและพลังงานไทย ?.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 :พลังงานทดแทนและความมั่นคงทางอาหารเพื่อมนุษยชาติ . ระหว่างวันที่ 2-4 กรกฏาคม 2552 ณ โรงแรมอุบลอินเตอร์เนชั่นแนล อุบลราชธานี.  น.7-16.

บทคัดย่อ

         ทุกวันนี้ มีการนำพืชไปใช้ประโยชน์ในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้เป็นอาหารของมนุษย์ (Food) อาหารสัตว์ (Feed) เส้นใย (Fiber) เฟอร์นิเจอร์ (Furniture) และที่กำลังได้รับความสนใจมาก คือ การใช้พืชเป็นแหล่งผลิตพลังงาน (Fuel) อันเป็นผลสืบเนื่องจากราคาน้ำมันทะยานเพิ่มขึ้นไปทำสถิติสูงสุดกว่า 150 เหรียญสหรัฐ/บาเรล เมื่อกลางปี พ.ศ. 2551 รวมทั้งมีงานวิจัยที่คาดการณ์ว่าพลังงานจากฟอฟซิลกำลังจะหายากมากขึ้น ทำให้ทุกประเทศต่างพยายามพัฒนาแหล่งพลังงานของตนเอง การนำพืชมาผลิตเป็นพลังงานเป็นแนวทางหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจในขณะนี้ เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พื้นที่การเกษตรของไทยมีปริมาณคงที่ จึงเกิดคำถามที่ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะนำไปสู่การแย่งชิงระหว่างการนำพืชไปผลิตเป็นอาหารและการผลิตพลังงานหรือไม่? ความสมดุลดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด? ประเทศไทยควรมีจุดยืนในเรื่องทั้งสองอย่างไร? เกษตรกรไทยจะ ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นจริงหรือ? เหล่านี้เป็นประเด็นเชิงนโยบายที่ต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างถ้วนถี่และรอบด้านเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศไทย บทความนี้มุ่งเน้นไปที่การประเมินความพร้อมและศักยภาพของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีด้านการจัดการต่อการเพิ่มผลผลิตพืชสำคัญ ซึ่งได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มนํ้ามัน โดยการประมวลจากผลงานวิจัยที่ผ่านมาร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS) และเครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์ ผลการวิเคราะห์ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่และมีปริมาณผลผลิต เพียงพอทั้งต่อความต้องการใช้เพื่อเป็นอาหารและเข้าสู่อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเอทานอลแต่อาจมีปัญหาความไม่พอเพียงของวัตถุดิบสำหรับการผลิตไบโอดีเซล อย่างไรก็ตาม ความสมดุลระหว่างการจัดสรรพืชเพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารและพลังงานจะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านนโยบายรัฐเป็นสำคัญ