รายละเอียดบทคัดย่อ


วินัย จตุทอง, สมมาตร ชูแก้ว และ สมชาย โพชนุกูล. 2531. เศรษฐกิจและสังคมของระบบการทำฟาร์มในพื้นที่ชลประทานในภาคใต้.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.271-281.

บทคัดย่อ

         พื้นที่ชลประทานเป็นจำนวนมากที่เกษตรกรยังปลูกพืชปีละครั้ง แล้วทิ้งดินให้รกร้างว่างเปล่า และตัวเกษตรกรออกไปหางานอื่นชั่วคราวทำ หรือบางรายขอพักผ่อนอยู่กับบ้านเฉยๆ อ้างว่ามิใช่ฤดูกาล การวิจัยพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ระบบทำฟาร์มแบบผสมผสานในพื้นที่ มุ่งให้ทำงานตลอดปี ด้วยวิธีใส่กิจกรรมต่างๆ ทั้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และการประมงตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ และความต้องการของเกษตรกรเป็นรูปแบบที่ดี สมควรสนับสนุนจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและเกษตรกรได้มีอาหารบริโภคดีขึ้น จากผลผลิตในฟาร์ม เช่น ข้าว ถั่วต่างๆ พืชผัก ผลไม้ เป็ด-ไก่ และไข่ เป็นต้น ดังตัวอย่างของโครงการพัฒนาฯ ชลประทานฝายบ้านต้นเลียบ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และโครงการฯ ชลประทานมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ปรากฏว่าทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนจากพืช และจากสัตว์ทุกชนิดร้อยละ 9.5 และ 25.9 ส่วนการปลูกพืชครั้งที่ 2 ก็มีแนวโน้มว่าจะปลูกกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.0 ด้วยเหตุผลว่าเพื่อเก็บผลผลิตไว้บริโภค ร้อยละ 51.0 เจ้าหน้าที่ชักชวนและเกิดจากการว่างงาน ร้อยละ 23.0 และ 22.0 ตามลำดับ