รายละเอียดบทคัดย่อ


เฉลิมชัย ปราสาทศรี. 2531. รูปแบบการพัฒนาการเกษตรในเขตอาศัยน้ำฝนที่ ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.175-183.

บทคัดย่อ

         โครงการพัฒนาการเกษตรอาศัยน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ดำเนินการทดสอบรูปแบบการทำฟาร์มแบบผสมผสานครบวงจรที่ ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม ในปี 2530 โดยการเลือกกิจกรรมของกรมต่างๆ ที่ร่วมในโครงการ ที่มีศักยภาพสูง เหมาะสมกับพื้นที่ มีความเกี่ยวโยงเกื้อกูลกัน และสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งกิจกรรมที่เลือกคือ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงปลาในนาข้าว การปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 การปลูกพืชไร่และพืชสวน (งาและมะละกอ) และปุ๋ยหมัก โดยให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการเลือกปฏิบัติอย่างน้อย 3 กิจกรรม และปุ๋ยหมักด้านการตลาด ได้จัดให้เกษตรกรรวมกลุ่มขึ้น มีการจัดหาวัสดุการเกษตรจำหน่าย ติดต่อพ่อค้ารับซื้อผลผลิต ดำเนินการรวบรวมผลผลิตของสมาชิกและจำหน่ายให้พ่อค้าที่ติดต่อไว้ ด้านการประสานได้จัดรูปแบบการประสานงาน โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวง และกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นผู้ประสานงานร่วมกัน มีกรมต่างๆ ร่วมปฏิบัติงานรวม 8 กรมใช้รูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยวิธีการร่วมกันทำ มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ 100 ราย ผลการดำเนินงานปรากฏว่าเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 6,450 บาท/ราย โดยเป็นรายได้เฉลี่ยจากการเลี้ยงไก่พื้นเมือง 1,870 บาท จากการเลี้ยงปลาในนาข้าว 1,153 บาท จากการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 3,297 บาท จากการปลูกงา 113 บาท และเกษตรกรปลูกมะละกอ 17 บาท ทั้งนี้มีเกษตรกรมีรายได้รวมเกิน 10,000 บาท รวม 11 ราย โดยมีรายได้มากที่สุด 17,113 บาท จาก 3 กิจกรรม ในปี 2531 โครงการได้ทำการทดสอบในระบบ ปกติต่อไป ในพื้นที่ ต.นางัว และ ต.นาทม อ.นาหว้า และ อ.บ้านแพง จ.นครพนม