รายละเอียดบทคัดย่อ


เดชา ศิริภัทร. 2531. กระบวนการถ่ายทอดวิทยาการทดแทนสารเคมี: กรณีศึกษาคุณอรรณพ ตันสกุล.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 5 : . ระหว่างวันที่ 4-7 เมษายน 2531 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ.  น.381-385.

บทคัดย่อ

         คงไม่ต้องกล่าวถึงประวัติศาสตร์การใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชเมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมาว่าได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างในที่นี้เป็นเพียงการมองปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่การถ่ายเทคโนโลยีรวมทั้งการแสวงหาทางเลือกในบางด้านเท่านั้นและคงมิใช่เป็นการกล่าวโทษถึงผลของงานที่รัฐในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบแนวนโยบายการถ่ายทอดเทคโนโลยีประเภทนี้เองเกือบหมดหากเป็นการกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าได้เตรียมสถานการณ์เพื่อจัดการกับเทคโนโลยีประเภทนี้น้อยเกินไป ความยุ่งเหยิงและความสลับซับซ้อนในการแก้ปัญหาจึงตามมาอย่างที่มีอาจหลีกเลี่ยง สารเคมีปราบศัตรูพืชจัดเป็นเทคโนโลยีระดับสูงสำหรับประเทศไทย การยอมรับความคิดการเกษตรสมัยใหม่ที่จะละทิ้งการใช้อืนทรีย์วัตถุและการใช้วิธีป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบดังเดิมลงโดยสิ้นเชิง ทำให้เราไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เหมือนเก่าอีกต่อไป สำหรับสารเคมีปราบศัตรูพืชนับเป็นตัวอย่างการพึ่งพาต่างประเทศอย่างสมบูรณ์แบบได้ชัดเจน ประกอบกับความไม่เท่าทันเทคโนโลยีที่เป็นของใหม่ย่อมได้รับความเสียเปรียบมาก การได้เปรียบผู้กุมหรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีอย่างแน่นอน การเปิดกว้างให้มีการค้าขายเสรีในตลาดอย่างเสรี นับเป็นการถ่างช่องว่างให้กับบริษัทอย่างไร้ขอบเขต การถือโอกาสผลักดันสารเคมีที่เป็นอันตราย ที่เสื่อมคุณภาพและห้ามใช้ในประเทศโลกที่หนึ่ง แต่กลับเข้ามาขายในบ้านเราย่อมเป็นไปอย่างง่ายดายและไม่รู้ตัว ความรับผิดชอบต่อเรื่องทำนองนี้อย่างน้อย การประกาศรายชื่อสารต้องห้ามให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปก็ยังไม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทันสมัยพอ การจะหวังให้มีมาตรฐานเพื่อต่อรองกับบริษัทนำเข้าโดยตรงซึ่ง (อาจจะ) ยากกว่าการย่อมเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย ผลิตภัณฑ์ในตลาดมากมายที่ขาดความรู้สึกผลเสีย ตลอดจนมิได้แจ้งวิธีการใช้ที่ถูกต้องและชัดเจน ย่อมเอื้ออำนวยให้ร้านค้าขายสินค้าให้เกษตรกรในปริมาณที่เกินความจำเป็น นอกจากจะเป็นการลงทุนี่ไม่คุ้มค่าแล้วยังก่อผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ด้วย อีกทั้งกำลังหลักในการเผยแพร่การใช้สารเคมี เช่น กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งมีเกษตรกรตำบลเป็นผู้ทำงานกับเกษตรกรโดยตรง ก็มีวิธีการไม่ต่างจากพ่อค้ามากนักโดยมีกรอบความคิดว่าการรอบรู้วิธีการป้องกันกำจัดคือการสามารถบอกชื่อผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่งให้เกษตรกรได้ แน่นอนว่าวิธีแนะนำเช่นนี้ย่อม 'สะดวก' มากกว่าการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการใช้สารเคมี 'ยากลำบาก' ยิ่งกว่า กรณีนี้จะไม่เป็นการยุติธรรมหากจะเอาผิดกับเกษตรตำบล เพราะความซับซ้อนของตัวสาเคมีที่มีให้เลือกใช้ไม่ต่ำกว่า 1,000 สูตร (formula) ความน่าเวียนเศียรไม่เพียงแต่เกษตรตำบลเท่านั้นที่ซาบซึ้งดี นักวิชาการบางระดับ หรือบัณฑิตเกษตรที่ความรู้ขั้นเขียนอ่านภาษาต่างประเทศได้ก็คงมีความรู้สึกไม่แตกต่างกัน ในกรณีที่เกาตรกรไม่ระมัดระวังการใช้สารเคมีและส่งผลถึงผู้บริโภคโดยตรง ในรูปของผักตายผ่อนส่งก็กล่าวโทษว่าเกษตรกร 'มักง่าย' ไม่ได้เช่นเดียวกัน ถ้าหากมิได้มองบทบาทของรัฐที่ค่อย ๆ หล่อหลอมให้เกษตรกรเพราะพฤติกรรมที่รู้ไม่ถึงการณ์โดยไม่รู้ตัวและนับวันก็ยิ่งฝังรากลึกขึ้น