รายละเอียดบทคัดย่อ


ชาญชัย อ่อนสอาด, พิสมัย พิชิตมาร, นิรันดร์ ทองพันธุ์ และ ศุภวัตร ทิพยรักษ์. 2533. การประเมินผลกระทบของงานวิจัยระบบการทำฟาร์ม.  ใน: รายงานการสัมมนาระบบการทำฟาร์ม ครั้งที่ 7 : . ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2533 ณ โรงแรมวังใต้ จ. สุราษฎร์ธานี.  น.49-60.

บทคัดย่อ

         แม้ว่างานวิจัยระบบการทำฟาร์มจะได้ดำเนินงานมานานหลายปีแล้ว สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในหลายพื้นที่ แต่ยังคงขาดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่เพียงพอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องจากการดำเนินงานในแนวนี้ ดังนั้น การประเมินถึงผลกระทบของงานวิจัยระบบการทำฟาร์มจึงมีความสำคัญ สามารถนำไปสู่การปรับปรุงบทบาทของงานวิจัยระบบฟาร์มต่อการพัฒนาการเกษตรได้ในอนาคต การศึกษาผลกระทบของงานวิจัยระบบการทำฟาร์มนี้ ได้เลือกเอาพื้นที่โครงการในเขตอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่ศึกษาการศึกษาได้ใช้กรอบแนวคิดเชิงระบบเกษตรนิเวศน์วิทยาเข้าช่วยในการวิเคราะห์ โดยประเมินผลิตภาพ เสถียรภาพ ถาวรภาพและความเสมอภาคของเทคโนโลยีงานวิจัยระบบการทำฟาร์มไปพร้อมๆกับการประเมินผลกระทบที่มีต่อชุมชนที่เกี่ยวข้อง หลักการพิจารณาผลกระทบดังกล่าวใช้วิธีการเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างสถานการณ์ ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ที่แนะนำเข้าไปเทียบกับสถานการณ์เมื่อไม่มีการใช้เทคโนโลยีนั้น ตัวแปรที่ศึกษาจะรวมถึงระบบการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ในพื้นที่ที่ศึกษา ความเปลี่ยนแปลงทางรายได้ในการเกษตรและรายได้รวมของครัวเรือน สืบเนื่องจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ ความแตกต่างในการยอมรับเทคโนโลยีใหม่ในกลุ่มเกษตรกรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ความแปรปรวนของเทคโนโลยีในการให้ผลผลิตในสภาพนิเวศน์ที่แตกต่างกันและบทบาทขององคืกร สนับสนุนต่างๆ ในการวิจัยและส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ การใช้วิเคราะห์ข้อมูลในการใช้สถิติพรรณนาเป็นส่วนใหญ่ การดำเนินงานการศึกษานี้ มีระยะเวลาในการศึกษา 3 ปี ในปีแรก (2532) มีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามจำนวน 160 ครัวเรือนตัวอย่าง ในปีที่สอง (2533) เป็นการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมแบบลึก โดยคัดเลือกจากเกษตรกร 30 ครัวเรือน ในโครงการฯ อำเภอดอกคำใต้ ส่วนในปีที่สาม (2534) จะเป็นการวิเคราะห์และสรุปผล